รู้จักต้นคูนหรืออ้อดิบ กินให้ถูกมีประโยชน์ กินผิด “อันตราย”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อต้นเดือนมีนาคมมีข่าวว่าผู้หญิงคนหนึ่งสั่งแกงส้มปลาใส่ออดิบกับไก่ต้มขมิ้นมากิน เพียงแค่กินคำแรกก็ได้เรื่อง หลังจากเคี้ยวกินมีความรู้สึกแปลกๆ ในปาก แสบเริ่มชา ความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนในปากแล้ว ลามถึงในลำคอ จนต้องนำส่งโรงพยาบาล หลังจากสืบสาวก็ได้ความว่า แม่ค้าร้านแกงไม่รู้จักหรือแยกไม่ออกระหว่าง “อ้อดิบ” กับ “บอน” ซึ่งพืชจำพวกบอนเป็นพืชพิษ ถ้าจะนำมาปรุงอาหารต้องมีความรู้และประสบการณ์อย่างดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตรายได้ง่าย

ในทางวิชาการ เรียก อ้อดิบ หรือ ต้นคูน หรือ โหรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia gigantea (Blume) Hook. F. H. ชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Green Taro ภาคกลางและภาคอิสานเรียกว่า ทูน คูน หัวคูณ ภาคเหนือเรียกว่า ตูน ภาคใต้เรียกว่า เอาะดิบ ออกดิบ ออดิบ นครศรีธรรมราช-ยะลา เรียก ออดิบ ชุมพรเรียกว่า กะเอาะขาว ประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า บอน กาญจนบุรีเรียกว่า กระดาดขาว แต่ต้องระวังเพราะเรียกชื่อซ้ำกันแต่เป็นคนละชนิดกับกระดาษขาว (Alocasia alba Schott) และกระดาษดำ (Alocasia macrorrhizos (L.) G. Don

คูนหรืออ้อดิบ เป็นพืชตระกูลบอน มีหัวอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ รูปร่างเป็นลูกศร มีนวลเคลือบแผ่นใบ ก้านใบยาวกลมมีนวลเคลือบ มี 2 ชนิด คือ ชนิดสีเขียวอ่อน ใบมีสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอมขาว ชนิดสีม่วง ใบและก้านใบสีม่วง ออกดอกเป็นช่อเชิงลด มีกาบหุ้ม ก้านช่อดอกกลมยาว มีกาบหุ้มจนมิด เมื่อดอกยังไม่บาน ช่อดอกทรงกระบอก ในบางพื้นที่ ๆ มีความชื้นสูง จะส่งเสริมปลูกเป็นแปลงเพราะสามารถเก็บก้านและใบมากินได้ตลอดปี

ในการนำอ้อดิบมาประกอบอาหาร มักใช้ก้านที่โตเต็มที่ ลอกเอาเปลือกเขียวที่หุ้มอยู่ออก กินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก แกล้มแกงรสจัด ส้มตำ ชาวเหนือมักนำใบอ่อนและก้านไปแกงส้มใส่ปลา ปรุงเป็นผักในแกงแคหรือแกงกะทิ ชาวใต้นิยมนำก้านไปแกงเหลืองใส่ปลา ยำอ้อดิบเป็นอาหารที่ทำกินกันในจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นอาหารที่มีราคาถูก ทำง่าย กินได้เป็นประจำ  และผลอ้อดิบกินได้ ถ้ารอให้สุกก็มีรสอร่อยดีเหมือนกัน

ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบใช้รักษาแผลใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ และดอก แก้แผลเรื้อรัง ลำต้นใต้ดินนำมาตำพอกช่วยถ่ายแก้พิษไข้ พิษร้อน หรือเอาเหง้ามาตำพอกแก้ฝี และถ้านำผลอ้อดิบสด ๆ มาฝนผสมกับน้ำผึ้งกินช่วยละลายเสมหะได้

นอกจากนี้ฝักแก่ยังมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง ถ้านำฝักมาบดผสมน้ำ แช่ทิ้งไว้ 2-3 วัน กรองเอาน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักต่าง ๆได้ ฝักแก่ยังใช้แทนฟื้นในการหุงต้มกับเตาเศรษฐกิจได้ มีขนาดที่พอเหมาะ ใช้สะดวกไม่ต้องผ่าไม่ต้องตัดฟืน เนื้อของฝักแก่ยังใช้แทนกากน้ำตาลในการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำเกษตรธรรมชาติ ได้จุลินทรีย์ไปขยายทำปุ๋ยหรือสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

คูน หรือ อ้อดิบ เป็นพืชที่มีศักยภาพที่ดี ควรจะส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นอาชีพ นอกจากทำอาหารกินได้แล้วยังเป็นการอนุรักษ์พืชในกลุ่มนี้ เพราะส่วนใหญ่เราเคยชินกับความเป็นพิษของบอนและเผือก จึงทำให้ไม่กล้ากินคูนหรืออ้อดิบ ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มบอน แต่ไม่มีพิษเหมือนชนิดอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม อ้อดิบมีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกับ กระดาษขาว (Alocasia alba Schott) และกระดาษดำ (Alocasia macrorrhizos (L.) G. Don ในทางวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นพืชคนละสกุล เนื่องจากมีลักษณะของดอกที่แตกต่างกัน ต้นกระดาษขาวมีข้อมูลค่อนข้างน้อย ส่วนต้นกระดาษดำ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Elephant ear, Giant taro, Ape, Ear elephant, Giant alocasia, Pai  มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดาดดำ (กาญจนบุรี) กระดาดแดง (กรุงเทพฯ) บึมบื้อ (เชียงใหม่) บอนกาวี เอาะลาย (ยะลา) โหรา (สงขลา) คือ โทป๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เผือกกะลา มันโทป้าด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) กลาดีบูเก๊าะ (มลายู-ยะลา) เป็นต้น

กระดาดดำมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน  ลำต้นสั้นตั้งตรงและเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกหน่อและไหล มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค จัดเป็นไม้พิษอีกชนิดหนึ่ง ต้นกระดาดทั้งขาวและดำ จะมีสารจำพวกเรซิน และ Protoanemonine ซึ่งเป็นพิษ และยังมีแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) อีกมาก ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังบวมแดง ถ้าจะกินเหง้า ต้องต้มให้สุก หรือทำใส่แกงต้มสุกค่อยกินได้

อ้อดิบกินได้ แต่มีคำแนะนำต้องมั่นใจว่าเป็นชนิดที่กินได้ หากไม่มั่นใจควรปรึกษาผู้รู้ ส่วนแม่ค้ามือใหม่ก่อนคิดปรุงอาหารกับพืชจำพวกบอนต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายที่ไม่ตั้งใจขึ้นได้ ปัจจุบันมีสถานที่พักผ่อนแนวรีสอร์ท จัดสวนหรือจัดภูมิทัศน์ด้วยการปลูกอ้อดิบไว้ แล้วนำมาปรุงอาหารบริการนักท่องเที่ยวด้วย แกงส้มอ้อดิบสอนให้รู้ว่า ทั้งอาหารและยาสมุนไพรมีประโยชน์ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้องถูกชนิดด้วย.