นักวิจัยเดินหน้าจีเอ็มโอ’ข้าวโพด’ในไร่นา

มหาวิทยาลัยนเรศวรประกาศเดินหน้าวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอในภาคสนามครั้งใหม่ หลังจากที่วงการวิจัยพืชจีเอ็มโอถูกปิดกั้นกลายๆ จากมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2550 ที่ระบุชัดเจนว่าการจะอนุญาตทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองปลูกให้อนุญาตทำได้ในสถานที่ราชการเท่านั้น และต้องขออนุญาตจากมติคณะรัฐมนตรี. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณาความปลอดภัยทางชีวภาพของพืชดัดแปลงพันธุกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK603 ในแปลงทดลองแบบเปิด ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะอนุกรรมการของกรมวิชาการเกษตรและ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

การทดลองครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด ที่ได้ให้ข้าวโพดจีเอ็มโอสายพันธุ์ NK603 ต้านทานยาฆ่าแมลงศัตรูพืช มาทดลองปลูกในแปลงทดลองแบบเปิดขนาด 5 ไร่ ที่สถานีวิจัยและอบรมบึงราชนก อำเภอวังทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

จุดประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อพัฒนาด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ต่อเนื่องจากการทดสอบในระดับโรงเรือน ตามที่ได้รับการเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ปี 2554 โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรมีแผนจะทดลองในแปลงเปิด ในปี 2556 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น และนำข้อสรุปเสนอให้คณะกรรมการชุดแรกพิจารณา

ส่วนการทดสอบในภาคสนามของมหาวิทยาลัยนเรศวรมีสเกลที่ไม่ใหญ่มาก ขณะที่พื้นที่ทดสอบมีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเก่าที่ตัดขาดจากโลกภายนอก โอกาสที่ละอองเกสรของข้าวโพดจีเอ็มจะปนเปื้อนกับข้าวโพดสายพันธุ์ทั่วไปไม่มี

อีกทั้ง ข้าวโพดสายพันธุ์ NK603 เป็นพันธุ์ของมอนซานโตที่มีการปลูกในทั่วโลก รวมถึงในอียู ซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์ในเชิงประวัติศาสตร์การใช้ (History of Use) ว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสามารถต้านทานยาปราบวัชพืชชนิดร้ายแรงได้

จากที่เกษตรกรเคยใช้สารเคมีปราบวัชพืชตัวแรงอย่างกรัมม็อกโซน สามารถเปลี่ยนมาใช้สารเคมีในกลุ่มไกลโคเสด ที่สลายตัวเร็วในธรรมชาติและลดการใช้แรงงานได้มากกว่า

เขายอมรับว่า ที่ผ่านมาการวิจัยพืชจีเอ็มโอห่างหายไปจากสังคมไทยเป็นเวลานาน โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าการวิจัยข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นการเปลี่ยนโฉมการพัฒนาเทคโนโลยีของการประเทศ รวมถึงสร้างความมั่นคงให้กับภาคการเกษตร แต่ถ้าล้มก็ล้มไปอีก 10 ปี

“มหาวิทยาลัยนเรศวรมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร โรคและแมลง รวมถึงการเพาะปลูก ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยนเรศวรกล้าหาญที่ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ทำให้เกิดกระแส และเป็นที่จับตามองของกลุ่มนักวิจัย รวมถึงกลุ่มที่มีความเห็นต่างอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม การทดลองปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอในภาคสนามครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างความแข็งแกร่ง ในฐานะศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub) หาก ครม. อนุมัติ เชื่อว่าการทดลองจะสามารถขยายไปในพืชอื่นอีกหลายชนิด เช่นเดียวกับงานวิจัยที่กำลังเดินหน้าในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ที่มีความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวโพดจีเอ็ม รวมถึงมาเลเซีย ที่เดินหน้าพัฒนาปาล์มน้ำมัน ไปจนถึงยางพาราจีเอ็มโอ ทำให้วันนี้ทั่วโลกมีพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอรวมทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านไร่

“กลับกันที่ประเทศไทย แค่ขอโอกาสที่จะเริ่มต้นวิจัยอีกครั้ง แต่ก็ต้องดูว่าจะผ่านมติ ครม.ได้หรือไม่ เพราะการขออนุญาตทำการวิจัยพืชจีเอ็มโอในภาคสนามไม่ง่าย ต้องมีการประเมินในหลายด้าน นอกจากการประเมินในระดับห้องปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ ยังต้องทำ อีไอเอ เอชไอเอ การจะทดสอบสักแปลงต้องทำประชาพิจารณ์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน”

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ยอมรับว่า ตอนนี้ไม่รู้ว่างานวิจัยเดินหน้าไปถึงขั้นไหนแล้ว และโดยส่วนตัวยังมีความกังวลว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรจะนำข้าวโพดจีเอ็มไปปลูกในพื้นที่ทั้งที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ และต้องรอมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการก่อน

มูลนิธิฯ ได้ติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังคงเป็นห่วงถึงขั้นตอนการควบคุมการทดลองซึ่งมีโอกาสที่เกสรของข้าวโพดจีเอ็มโอจะปลิวไปไกล ทำให้การควบคุมเป็นไปอย่างอยากลำบาก และเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมได้มาก

“หากคณะรัฐมนตรีอนุญาตให้มีการทดลองเกิดขึ้นจริงจะต้องมีเงื่อนไข ความรับผิดชอบ ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น”

นายวิฑูรย์ ย้ำว่ามูลนิธิฯ ไม่ได้ปฏิเสธการทดลองพืชจีเอ็มโอ แต่ ต้องเป็นการทดลองที่มีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ การทดลองต้องป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดความเสียหาย ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทดลองต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการออกกฎหมายที่มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างในอดีต เช่น กฎหมายความปลอดภัยช่วยได้ในแง่ถ้าเกิดความเสียหายบริษัทต้องรับผิดชอบ ส่วนกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในกรณีที่นำพันธุ์พืชหรือทรัพยากรชีวภาพของไทยไปใช้ในการวิจัย ต้องตอบแทนผลประโยชน์

“วันนี้เราจะพูดว่าพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเต็มปากได้อย่างไร ถ้านักวิจัยยังเป็นแค่เพียงหน่วยงานรับจ้างทำการทดลอง โดยไม่ได้มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง สุดท้ายสิทธิบัตรของการวิจัยก็ไม่ใช้ขิงเรา บริษัทผูกขาดเอาไว้ทั้งหมด” เขากล่าว

การตั้งข้อสังเกตว่าข้าวโพดสายพันธุ์ที่นำมาใช้ในการทดลองครั้งนี้เป็นสายพันธุ์ที่มีปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ มีการทดลองและเป็นที่ถกเถียงอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทำให้ต้องจับตามากกว่าปกติ เนื่องจาก NK603 เป็น ข้าวโพดที่ทนสารเคมีกำจัดวัชพืช ทำให้มีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หลังจากมีการส่งเสริมให้ปลูกโดยบริษัทมอนซานโต้

ที่ผ่านมาการนำเข้าวัตถุดิบจีเอ็มในลักษณะอาหารสัตว์ กับการนำเข้ามาปลูกเป็นคนละประเด็น ซึ่งการปลูกพืชจีเอ็มมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า รวมถึงสิทธิของเกษตรกรในเรื่องเมล็ดพันธุ์จากพันธุ์พืชที่มีสิทธิบัตร รวมถึงผลกระทบด้านการส่งออกของพืชอื่น เช่น ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อน ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

“ตอนนี้หลายประเทศก็ไม่ได้ปลูกพืชจีเอ็ม ขณะที่การทดลองปลูกพืชจีเอ็มในอเมริกาพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่กลับทำให้ใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ในประเด็นนี้ทำให้มูลนิธิฯ ยังคงต้องจับตาเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักไก่ นำเอาพืชจีเอ็มไปทดลองปลูกเองโดยไม่ผ่านมติ ครม.” นายวิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : จุฑารัตน์ ทิพย์นาภา กรุงเทพธุรกิจ 4 ต.ค.56

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงมีคุณค่าเหลือคณา

admin 2 เมษายน 2019

ข้าวโพดเป็นพืชที่มีผู้นิยมบริโภคแพร่หลาย แต่มีหลายชนิดห […]