บัว อาหารและสมุนไพร สุขภาพดีตลอดปี 2566

บัวเป็นพืชที่รูปทรงสวยสง่า ความหมายดีตามวีถีชาวพุทธ เป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี ดังกับการเปรียบเปรยว่า แม้จะเกิดในโคลนตมแต่เมื่อเจริญเติบโตทั้งใบและดอกอันสวยงามก็ช่างสะอาดงดงามไม่เปื้อนโคลนตมไปด้วย

มูลนิธิสุขภาพไทยขอส่งความปรารถนาดีด้วยความรู้คู่บ้านคู่ชุมชน ด้วยการขอมอบความรู้บัวเป็นของขวัญให้ทุกท่านนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างดีเยี่ยม บัวเป็นทั้งอาหารและสมุนไพรดูแลสุขภาพตลอดปีและตลอดไป ทุกส่วนของบัวนำมาปรุงเป็นอาหารได้ และทุกส่วนของบัวก็นำมาเป็นตำรับยาสมุนไพรได้เช่นกัน มีคนเคยค้นหาโทษจากบัว ซึ่งดูเหมือนว่าหาแทบไม่มีเลยหรือมีน้อยมากๆหรือจะมีก็เพราะใช้ไม่ถูกวิธี เช่น ใช้มากเกินไป หรือที่จะเป็นโทษก็เพราะปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนเป็นอันตรายนั่นเอง ดังนั้น บัวตามธรรมชาติเป็นสมุนไพรที่ปลอดภัยสูง เป็นของขวัญที่ดีต่อทุกคน

ขอพามาจำแนกบัวกันก่อน ถ้าแบ่งกันเข้าใจง่าย ๆ ก็ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.บัวหลวง (Lotus) หรือ ปทุมชาติ จัดอยู่ในสกุล Nelumbonaceae มีแหล่งกำเนิดในทวีปเอเชีย เรามักคุ้นเคยเพราะนิยมนำบัวชนิดนี้ถวายพระ ดอกมีทั้งดอกซ้อนและไม่ซ้อนใบ และมีทั้งชนิดสีขาว สีชมพู และสีเหลือง ในประเทศไทยมีอยู่ 5 พันธุ์ คือ บุณฑริก ปทุม บัวหลวงราชินี(พันธุ์ใหม่) บัวหลวงสัตตบุษย์ สัตตบงกช

2.อุบลชาติ (Water-lily) จัดอยู่ในสกุล Nymphaea มีแหล่งกำเหนิดในทวีปเอเชีย สังเกตได้ว่าก้านใบไม่มีหนาม กลีบดอกมีทั้งดอกซ้อน ในอุบลชาติพอจะแบ่งง่ายได้ อีก 2 ประเภท คือ อุบลชาติยืนต้น ( Hardy water-lily ) และอุบลชาติล้มลุก (Tropical water-lily) ซึ่งที่เราคุ้นเคยแต่ดั้งเดิม คือ บัวผันและบัวเผื่อน ก็อยู่ในประเภทนี้ บัวสาย (บานกลางคืน) ที่เรานิยมเก็บสายบัวมากิน ก็จัดอยู่ในอุบลชาติ จงกลนี (บานกลางวัน ) และบัวยักษ์ (บานกลางวัน) ต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นบัวใบใหญ่ และบัวกระด้ง หรือ บัววิคตอเรีย (Royal water-lily, Victoria) บัวใบใหญ่ยักษ์มากๆ บางที่ก็จัดแยกอีกประเภท แต่ฟังจากนักวิชาการบางท่านก็ถือว่าอยู่ในกลุ่ม อุบลชาติ (Water-lily) ด้วย

ในการใช้ประโยชน์ด้านอาหารนั้น พบว่าทั้งบัวหลวงและอุบลชาติก็นำมากินหรือปรุงอาหารได้มากมาย แต่ในด้านประโยชน์ทางยาสมุนไพรนั้น ข้อมูลที่มีค่อนข้างมากมักนำเอาบัวหลวงหรือปทุมชาติมาใช้ประโยชน์กันแพร่หลาย กล่าวตามสรรพคุณยาไทย เกสรบัว มีรสฝาดสมาน กลิ่นหอมบำรุงหัวใจ ให้ชุ่มชื่น บำรุงตับ ปอด คุมธาตุ แก้ลม บำรุงครรภ์ แก้ไข้ ปฐวีธาตุพิการ

ราก รสมัน แก้ไข้พิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลัง แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ เป็นยาเย็นแก้พิษอักเสบ แก้พิษต่างๆ แก้ปวดบวม เมล็ด รสมัน บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์รักษา

การใช้บำรุงหัวใจ คือ ท่านใดมีอาการ เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่นง่าย ใจหวิว ๆ ใจหงุดหงิด หายใจอึดอัด อารมณ์ไม่ค่อยสดชื่น ถ้ามีลักษณะอาการแบบนี้ แนะนำให้นำเกสรสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน ตั้งทิ้งไว้สัก 10-15 นาที กินเฉพาะน้ำยาขณะอุ่นๆ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง บางท่านอาจนำเกสรบัวแห้งไปผสมใบชาจีนชงน้ำดื่มเป็นเครื่องดื่มประจำวันก็ได้เช่นกัน บางวิธีใช้แบบแช่ด้วยน้ำปกติหรือน้ำเย็นเล็กน้อยก็ได้ แต่ตัวยาจะออกมาช้า ต้องแช่เป็นเวลานาน แต่เมื่อดื่มแบบเย็น ๆ นี้ก็ช่วยให้จิตใจชุ่มชื่น และให้สมองความคิดแจ่มใสได้เช่นกัน

วิธีใช้ดอกทั้งดอกมาบำรุงหัวใจก็ได้ ตำราดั้งเดิมแนะนำให้เลือกดอกบัวสีขาว (ดอกสีชมพูไม่นิยม แต่จะใช้ก็ได้) บัวที่เราใช้บูชาพระก็ใช้ได้ นำดอกบัวมา 3-5 ดอก ต้มกับน้ำ 4-7 แก้ว ต้มให้เดือดนานสัก 5-6 นาที ไม่ควรต้มนานเกินไป รสชาติจะขม แต่ถ้าเดือดกำลังดี นำมาดื่มรสชาติใช้ได้ บางท่านแต่งรสด้วยน้ำผึ้งเล็กน้อย กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง สรรพคุณเช่นเดียวกับเกสรบัวเช่นกัน ในตำราจีนแนะนำว่า ดอกบัวกินแก้ช้ำใน และในสรรพคุณของอินเดีย ดอกบัวใช้แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ แก้ไอ ด้วยเช่นกัน

ปีใหม่นี้หากจะบำรุงกำลัง แนะนำกินเมล็ดบัว ซึ่งเป็นความรู้ดั้งเดิมของทั้ง ไทย จีน อินเดีย ในตำราถึงกับกล่าวไว้ว่า เมล็ดบัวเป็นยาหรืออาหารบำรุงกำลังชั้นหนึ่ง เป็นยอดแห่งอาหารบำรุงกำลัง การบำรุงนั้นกล่าวถึง ช่วยบำรุงกระเพาะและลำไส้ให้แข็งแรง ช่วยย่อยและดูดซึมอาหารได้ดี ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี การกินเมล็ดบัวยังช่วยให้หลับง่าย ช่วยให้ผ่อนคลายลดความเครียด ช่วยแก้กระหายน้ำด้วย ในตำรายาไทยนอกจากกินเมล็ดบัวบำรุงกำลังแล้ว ยังเป็นยาบำรุงครรภ์ด้วย สตรีที่ตั้งครรภ์หากได้ปรุงเมล็ดบัวกินในมื้ออาหารบ้างก็น่าจะช่วยบำรุงร่างกายแม่ให้แข็งแรงเพื่อลูกน้อยด้วย บางท่านจะนำเมล็ดไปต้มกินหรือนำเมล็ดแห้งมาบดผงนำมาโรยกินพร้อมอาหารครั้งละ 1-2 ช้อนชาก็ได้

รากบัวก็เป็นทั้งอาหาร เช่น นำรากบัวมาต้มกับกระดูกหมู เป็นน้ำแกงรสอร่อย และเป็นยาสมุนไพรที่ดีใช้แก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ วิธีง่ายที่สุดนำรากบัวมาหั่นเป็นแว่นๆ ใส่น้ำท่วมยา ต้มให้เดือด 10-15 นาที กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง หรือจะนำรากบัวมาคั้นน้ำกิน 2-3 ช้อนแกง ก็ได้ ข้อควรระวังรากบัวมีสรรพคุณรสเย็นจัด ไม่ควรกินมากเกินไป

ของขวัญชิ้นสำคัญจากบัวอีกชิ้นหนึ่ง คือ ดีบัว หรือไส้ในลูกบัวที่มีรสขมนั้น เป็นยาที่ดีต่อหัวใจ มีการศึกษาพบว่าในดีบัวมีสารออกฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ฤทธิ์ลดความดันโลหิต แม้ว่าดีบัวมีรสขม แต่เราใช้ในปริมาณไม่มาก นำมาชงผสมเกสรบัวหรือชาจีนก็ได้ ดื่มกินสม่ำเสมอ น่าจะช่วยบำรุงหัวใจให้ดี สุขภาพใจสดชื่น นอนหลับสบาย

ปลูกบัวไว้ที่บ้านที่สำนักงาน ดอกบัวสวยงามจะช่วยให้จิตใจสดใสมีกำลังใจตลอดปี 2566 แน่นอน .