ปลูกยา หน้าฝน

ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้สมุนไพรที่เป็นยาสำเร็จรูปกันอย่างแพร่หลาย แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่พอจะรู้จักตัวตนจริงๆ ของพืชสมุนไพรเหล่านั้น ส่วนใหญ่คงเคยเห็นแต่ที่อยู่ในรูปแคปซูลหรือขวดบรรจุ การปลูกสมุนไพรนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะได้ชื่นชมและทำความรู้จักกับลักษณะธรรมชาติและนิสัยใจคอของสมุนไพรแต่ละชนิด และไม่มีช่วงไหนเหมาะสำหรับการปลูกสมุนไพรยิ่งไปกว่าตอนต้นฝนอย่างนี้ การเลือกชนิดสมุนไพรที่จะปลูกอาจจะเริ่มต้นจากสมุนไพรหลักๆ ที่ปลูกไว้ยังไงก็ต้องได้ใช้ หรือบางชนิดที่กำลังได้รับความนิยมขนาดที่เรียกว่าไม่มีไม่ได้ ตัวอย่างในกลุ่มนี้เช่น ฟ้าทะลายโจร เสลดพังพอนตัวเมีย ว่านหางจระเข้ หญ้าปักกิ่ง สมุนไพรเหล่านี้ปลูกง่ายใช้ง่าย อย่างฟ้าทะลายโจรเพียงแต่หาเมล็ดหรือเอาต้นมาปลูกเพียงครั้งเดียวก็ไม่ต้องปลูกอีก เพราะเมล็ดจะร่วงหล่นแล้วงอกขึ้นมาใหม่ ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียตัดกิ่งมาชำก็ไม่ยาก ว่านหางจระเข้นั้นต้องมีไว้คู่ครัวเวลาไฟไหม้น้ำร้อนลวก ส่วนหญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรที่กำลังมาแรง มีสรรพคุณเสริมภูมิต้านทาน กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ป่วยมะเร็งช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น มีคนถามหากันมากถึงไม่ได้ใช้เอง มีไว้แจกจ่ายก็ได้บุญ พืชทั้งสองชนิดนี้ใช้วิธีแยกต้นเล็กๆ จากต้นแม่มาปลูกในกะละมังเก่าๆ ที่ใส่ดินเท่านี้ก็ขึ้นแล้ว กลุ่มที่สองเป็นพวกขิง ข่า ขมิ้นชัน ใช้เป็นอาหารและยา ปลูกในดินร่วนปนทรายจะลงหัวดี แต่ถึงจะเป็นดินประเภทอื่น ถ้าใส่ปุ๋ยขี้วัวกับแกลบเผาในหลุมปลูกก็ตัวโตขุดง่ายได้เช่นกัน พืชตระกูลนี้ชอบที่ร่มปลูกที่ใต้ร่มเงาของไม้ผลไม้ใหญ่ได้ กลุ่มที่สามเป็นผักพื้นบ้าน มักขึ้นเองตามธรรมชาติหรือขยายได้เร็ว เช่น บัวบก มะระขี้นก อัญชัน ชะพลู บัวบกกับมะระขี้นกนั้นขึ้นอยู่ทั่วไป ถ้าไม่มีจะเอามาปลูกต่อไปก็ขึ้นได้เอง ชะพลูช่วยลดน้ำตาลในเลือดมีชาวสวนเอาไปปลูกแซมกับส้มโอ ขนุน มะนาว เผลอแป๊บเดียวชะพลูขยายเป็นดง ไล่หญ้าหนีหายหมดแถมเก็บใบขายได้ กลุ่มที่สี่ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ เพราะมีรูปทรง ดอก หรือสีสันสวยงาม และยังนิยมนำมาทำเป็นชาสมุนไพร เช่น หญ้าหนวดแมว ทองพันชั่ง กระเจี๊ยบแดง รางจืด สามชนิดแรกนั้นเป็นไม้ล้มลุกและมีพุ่มมีดอกสวยงาม กลุ่มที่ห้าเป็นพวกไม้เถา เช่น รางจืดซึ่งมีดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน นิยมปลูกประดับซุ้ม แข็งแรงและโตเร็วมาก ถ้าขึ้นต้นไม้อื่นอาจพันไม้หลักตายไปเลย ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์บางทีต้นเดียวออกเถาคลุมพื้นที่เป็นงานๆ บอระเพ็ดเป็นไม้ตายยาก ตัดเถามาพาดกับไม้อื่น ก็ทิ้งรากอากาศหยั่งลงพื้นดินได้ เรียกว่าไม่ต้องตั้งใจปลูกก็ยังขึ้น มีสมุนไพรที่เป็นไม้เถาอีก 2 ชนิด ที่มักใช้เป็นตัวยาหลักในยาหลายตำรับ ระยะหลังๆ มีการเก็บมาจากในป่ามาใช้กันไม่ค่อยบันยะบันยังจนเริ่มขาดแคลนหายาก ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง โคคลาน เป็นพืช “หัวร้อนตีนเย็น” คือชอบขึ้นใต้ร่มอาศัยไม้ใหญ่เป็นพี่เลี้ยง พอเลื้อยขึ้นได้รับแดดรับอากาศข้างบนก็ยิงเติบโตแตกเถามากมาย เอามาปลูกทำซุ้มให้ขึ้นในสวนเพื่ออนุรักษ์ไว้ก็ดี กลุ่มสุดท้ายเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกง่ายไม่ต้องดูแล ถ้าบ้านมีบริเวณหรือเป็นสวนควรปลูกไว้ ได้แก่ สะเดา ขี้เหล็ก เพกา มะตูม ยอ สองตัวหลังนี้คนโบราณนิยมปลูกคู่บ้าน ต้นยอนั้นติดลูกเร็ว พออายุ 6 เดือน ก็เริ่มออกดอก ปลูกไว้ไม่เสียหาย ถึงไม่เอาชื่อเป็นเคล็ด ก็ใช้เป็นยาบำรุงเลือดลม ไม่ต้องไปซื้อน้ำยอให้เสียสตุ้งสตังค์เปล่าๆ สมุนไพรเด่นที่เป็นไม้ยืนต้นขึ้นเองในป่า ไม่มีใครปลูก แต่เวลานี้เริ่มร่อยหรอไปพร้อมกับป่า ก็น่าหามาปลูกเพื่ออนุรักษ์ไว้ เช่น สมอไทย มะขามป้อม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปลูกยา ขมิ้นชัน

admin 3 มกราคม 2019

ขมิ้นชัน เป็นพืชพื้นเมืองของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี […]

ปลูกยา ดีปลี

admin 3 มกราคม 2019

ดีปลี เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบสภาพ […]