20 สมุนไพรในข่วงบ้านคนล้านนา

กรรณิการ์ ชมภูศรี
เครือข่ายผญาสุขภาพล้านนาจังหวัดลำปาง

สืบค้นเข้าไปในรั้วบ้านของชาวล้านนาแต่ดั้งเดิม ทุกครัวเรือนนิยมปลูกพืชผักไว้รอบบ้าน เก็บกินเป็นทั้งอาหารและยา นี่คือภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งล้านนา เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในบ้านอย่างลุ่มลึก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมการกินอยู่ ผักไม้ไส้เครือหาเก็บได้ใช้ทำอาหารตามฤดูกาล พืชผักบางชนิดมิใช่เพียงอาหารแต่ยังคือยารักษาโรคมีไว้พึ่งพาตนเองในครัวเรือน

ขอแนะนำพืชพรรณหลากหลายตามฤดูกาลที่คนเหนือรู้จักใช้และนิยมปลูกไว้รอบบ้าน เพื่อหยิบจับใช้ประโยชน์ได้ง่าย นับเป็นผญาปัญญา ที่ต้องสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ๆต่อไป

คาจิงจี่ หรือฮางคาว หรือว่านน้ำ รสจืดเฝื่อนเย็น คนเหนือใช้ฝนใส่น้ำทาท้องเด็ก และใช้ลูบหัวเพื่อลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้องในเด็ก เป็นส่วนผสมสำคัญของยาอบสมุนไพร

สรรพคุณทางยา เหง้า รสหอมร้อน ต้มหรือบด รับประทาน แก้บิด แก้ปวดท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในกระเพาะและลำไส้ ขับเสมหะ แก้ไอ ระงับประสาท แก้ตื่นเต้น ขี้ลืม แก้ชัก แก้อาการสะลืมสะลือ แก้ปวดตามข้อ แก้แผลมีหนอง ขับพยาธิ แก้ปวดฟัน เลือดออกตามไรฟัน ต้มชะล้างแก้คันตามซอกขาและก้น ฝนกับสุราทาหน้าอกเด็ก แก้ปอดและหลอดลมอักเสบ ต้มดื่มหรือเคี้ยวแก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ อมแก้ไอ รับประทานแก้หอบหืด บำรุงหัวใจ เผาเป็นถ่านรับประทานแก้พิษสลอด

ขมิ้น ปลูกไว้เป็นเครื่องแกง ใบใช้แทนใบตองห่อแอ๊บปลา เด็กๆถูกยุงกัดนำขมิ้นสดทาบริเวณถูกยุงกัดหายดีนักแล

สรรพคุณทางยา เหง้า รสฝาดหวานเย็นเอียน แก้ไข้ คลั่งเพ้อ แก้ไข้เรื้อรัง ผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ธาตุ

ปูเลย หรือไพล พืชหัวสำหรับแม่ก๋ำเดือนหรือแม่หลังคลอด ต้มดื่มขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง นอกจากนี้ปูเลยยังใช้เข้ายาหลายตำรับของหมอเมืองล้านนา

สรรพคุณทางยา ใบ รสขื่นเอียน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดเมื่อย
– ดอก รสขื่น แก้ช้ำใน กระจายเลือดที่เป็นลิ่มเป็นก้อน กระจายโลหิต ทำลายเลือดเสีย ขับระดู รสฝาดขื่นเอียน แก้อุจาระพิการ แก้ธาตุพิการ
– ราก รสขื่นเอียน แก้เลือดกำเดาออกทางปากทางจมูก แก้อาเจียนเป็นโลหิต
– เหง้า รสฝาดขื่นเอียน ขับระดู แก้เหน็บชา แก้ปวดท้อง แก้บิดมูกเลือด ขับลม แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ ขับเลือดร้าย แก้มุตกิดระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เด็กเป็นไข้สูงตัวสั่นตาเหลือก แก้เคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง แก้โรคผิวหนัง แก้ฝี ทาเคลือบแผลป้องกันการติดเชื้อ ดูดหนอง สมานแผล แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นยาชาเฉพาะที่

หอมด่วน ผักพื้นบ้านใส่คู่เคียงอาหารประเภท ลาบ แกง ต้ม ยำ เพิ่มรสชาติและกลิ่นแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาช่วยขับลม มีฤทธิ์เย็น คนเหนือใช้ตำผสมกับต้นคาจิงจี่ ห้อมเกี่ยว พอกกระหม่อมเด็ก ลดไข้

สรรพคุณทางยา ทั้งต้นสด กินเป็นยาขับลม ขยี้ทาขมับแก้ปวดหัว แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ดมแก้ลม ทาแก้ฟกบวม

หอมแบ่ง ลักษณะเหมือนต้นหอม ชาวเหนือนิยมปลูกใส่ในกระถางเก่า กะละมัง กระป๋องเก่าๆ ตั้งไว้บนจานเฮือน (ชานบ้าน) หยิบฉวยใช้ง่าย กินเป็นผักเคียง ใส่ตำมะเขือเผา ยำบ่ะถั่วบ่ะเขือ ผัดใส่ไข่ เพิ่มกลิ่นและรสชาติให้อาหารอร่อย สรรพคุณ ช่วยขับลมดีนักแล

ผักไผ่ หรือผักแพรว ชู้ผักหอมด่วนใส่คู่กัน มีหอมด่วนต้องมีผักไผ่

สรรพคุณทางยา ยอดอ่อนและใบอ่อน ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
ใบ คั้นผสมกับแอลกอฮอล์ทาแก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน

ผักเซียงดา ปลูกไว้ขึ้นรั้วบ้าน เป็นผักพื้นบ้านอีกชนิด ใช้ได้ทั้งแกง หรือกินกับน้ำพริก ตำมะม่วง หรือแกงใส่ปลาแห้ง

สรรพคุณทางยา ใบนำมาตำให้ละเอียดพอกกระหม่อม รักษาหวัดและรักษาไข้ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

ผักอิออ หรือผักชีล้อม คนเหนือปลูกใส่กะลังมังเก่าวางบนชานบ้าน กินเป็นผักเครื่องเคียง เวลาทำอาหารเสร็จไม่ต้องเดินหาผักแกล้มไกล เด็ดเอาบนชานบ้านได้ทันที

สรรพคุณทางยา ต้นใช้ผสมตำรับยารักษาอาการเหน็บชา ขับเหงื่อ แก้น้ำเหลืองเสีย
ผล เป็นยาขับลม แก้ธาตุพิการ แก้หอบหืด ไอ คลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้เจริญอาหาร

ข่า สมุนไพรคู่บ้าน นอกจากใช้เป็นเครื่องแกงชั้นดี ยังเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อนช่วยขับลม ลดอาการผื่นคัน ลมพิษ คนเหนือเวลาเป็นลมพิษ หรือคันผิวหนังใช้ข่าสดตำสดผสมเหล้าขาวทาบริเวณที่คัน หายคันดีนัก

สรรพคุณทางยา ใบ รสเผ็ดร้อน ฆ่าพยาธิ กลากเกลื้อน ต้มอาบ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
– ดอก รสเผ็ดร้อน แก้กลากเกลื้อน
– ผล รสเผ็ดร้อนฉุน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิดมีตัวและไม่มีตัว
– หน่อ รสเผ็ดร้อนหวาน แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ
– เหง้า รสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น ขับลมให้กระจาย แก้ฟกบวม แก้พิษ แก้บิด แก้ตกโลหิต แก้ลมป่วง แก้กลากเกลื้อน ให้สตรีรับประทานหลังคลอด ขับเลือดน้ำคาวปลา
– ต้นแก่ รสเผ็ดร้อนซ่า ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ แก้ตะคริว
– ราก รสเผ็ดร้อนปร่า ขับเลือดลม ให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา แก้เสมหะ และโลหิต

ตะไคร้ คนเหนือปลูกตะไคร้ไว้รอบบ้าน สำหรับเป็นเครื่องแกง มีฤทธิ์เย็นช่วยขับลม ขับปัสสาวะ นำมาต้มรวมกับผักนังดีด หญ้าฝากควาย เป็นยาแก้กินผิด

สรรพคุณทางยา เหง้า มีรสหอมปร่า แก้กระษัย แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ แก้ขัดปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปรกติ แก้นิ่ว
– ต้น มีรสหอมปร่า ขับลม แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่ว ดับกลิ่นคาว เจริญอาหาร
– ใบ มีรสหอมปร่า แก้ไข้ ลดความดันโลหิต
– ทั้งต้น มีรสหมอปร่า แก้ปวดท้อง หืด ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ บำรุงธาตุ

สำหรับวันนี้ขอแนะนำเพียง 10 ชนิดก่อน ในสัปดาห์ต่อๆไปจะได้แนะนำเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือ.

บทความที่เกี่ยวข้อง