ผลักดันส่งออก 4สมุนไพรต่างชาตินิยม

เตรียมดัน “กวาวเครือขาว-บัวบก-กระชายดำ-ไพล-ลูกประคบ” เป็นโปรดักส์แชมเปียน ระบุเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เผยปัจจุบันเก็บสมุนไพรจากป่าแถบตะเข็บชายแดน เหตุไร้การส่งเสริมเกษตรกรปลูกอย่างจริงจัง

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานสมาพันธ์สุขภาพและความงาม กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมเสนอผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 4+1 ตัว ให้เป็นโปรดักส์แชมเปียน คือ กวาวเครือขาว บัวบก กระชายดำ ไพล และลูกประคบ เนื่องจากสมุนไพรกำลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ อีกทั้งยังปลูกง่าย สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง โดยสมุนไพรกวาวเครือขาวจะมีสรรพคุณช่วยบำรุงผิวพรรณ ขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังให้ความสนใจกระชายดำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำวิจัยสมุนไพรดังกล่าวเพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปรับสมดุลทางอารมณ์สำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงก่อนมีประจำเดือนที่อารมณ์มักแปรปรวน ในขณะที่ประเทศไทยยังมีแนวคิดใช้กระชายดำเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนบัวบกมีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ลดอาการแพ้ เพราะฉะนั้นแทบทุกประเทศจึงนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศจะมีสายพันธุ์ของบัวบกแตกต่างกัน แต่ถือได้ว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านจะมีประสิทธิภาพค่อนข้างดีกว่า แต่ที่เป็นปัญหาคือเกษตรกรไทยมักฉีดยาฆ่าแมลง จึงอยากให้เกษตรกรปลูกบัวบกในมุ้งหรือปลูกแบบออร์แกนิกส์

นายนาคาญ์กล่าวว่า สมุนไพรไพลเป็นสารออกฤทธิ์หลักในลูกประคบ ใช้นวดผ่อนคลาย เพราะมีสรรพคุณแก้ปวดเข่า ปวดขา รักษาอาการน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทำยาสระผม ครีมบำรุงผิว ซึ่งขณะนี้มีการผลิตเป็นครีมนวดลักษณะคล้ายยาแผนปัจจุบัน ผู้ผลิตหลักๆ ประมาณ 4-5 ราย และพยายามส่งไปใช้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งนี้ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าไพลจะมีตลาดกว้างกว่าสมุนไพรตัวอื่น เพราะเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันแล้วมีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความเสื่อมของข้อกระดูกด้วย

ขณะนี้ทางสมาพันธ์ฯ กำลังผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูดี มีมูลค่า เพื่อยกระดับของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์แผนปัจจุบันได้จริงๆ แต่ติดปัญหาที่ยังไม่มีการส่งเสริมให้ปลูกอย่างจริงจัง สมุนไพรที่นำมาผลิตส่วนใหญ่เก็บจากป่าแถบตะเข็บชายแดน แต่ล่าสุดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเกษตรกรมาพบกัน โดยให้ผู้เกษตรกรรวมกลุ่มกันตั้งสหกรณ์ขึ้นมากำหนดคุณภาพ และตั้งราคากลางของสมุนไพร

“การตั้งสหกรณ์ขึ้นมากำหนดคุณภาพ และตั้งราคากลางของพืชสมุนไพร ราคาอาจจะสูงกว่าปกติ แต่มั่นใจได้ว่าจะได้ของดีมีคุณภาพ ก่อนหน้านี้เคยทดลองไปซื้อสดๆ จากไร่มาสกัด พบว่าสารที่ได้ต่างกันเกือบ 10 เท่า เพราะเมื่อซื้อจากที่อื่นๆ เราไม่รู้ว่าเขาเก็บมาไว้นานแค่ไหนแล้ว พอเอามาสกัดสาระสำคัญก็หายไปหมดแล้ว” นายนาคาญ์กล่าว และว่า ตลาดกลางตอนนี้มีอยู่ที่ ม.แม่โจ้ แต่อยากขยายมาให้ได้ 4 ภาค ตอนนี้ทางสมาพันธ์ฯ กำลังจัดทำซอฟต์แวร์เพื่อให้ทาง ม.แม่โจ้ เกษตรกร และผู้ประกอบการใช้ เพื่อให้สามารถคุยกันได้ว่าผู้ประกอบการต้องการสมุนไพรตัวไหน แล้วผู้ปลูกก็จะได้บอกลูกไร่ได้ว่าตลาดต้องการอะไรอยู่

ที่มา : ไทยโพสต์ออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง