ผักชู ชูรส ชูกำลัง

การเดินทาง คือ การเรียนรู้ มีทริปหนึ่งได้ไปเชียงรายแล้วได้แวะกินอาหารกลางวันที่ผาฮี้ เมนูที่เป็นไฮไลท์ในวันนั้น คือ ผัดผักชู ยอมรับว่าได้กินผัดผักที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย คนพื้นที่หรือท้องถิ่นนั้นนำมาผัดให้กินกันอย่างเอร็ดอร่อยมากๆ มีกลิ่นเฉพาะตัวอยู่ระหว่างต้นหอมและต้นกุ๋ยฉ่าย

ความประทับใจทำให้เมื่อกลับมาถึงบ้าน จึงสนใจทำการค้นหาข้อมูลของผักชนิดนี้ พบว่า ผักชู เป็นผักที่อยู่ในกลุ่มกระเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium hookeri Thwaites จากฐานข้อมูลของ Plant of the World ระบุว่าผักชูเป็นพืชพื้นเมืองของภูฏานไปจนถึงจีนตอนใต้และศรีลังกา แต่ฐานข้อมูลพรรณไม้ของอินเดียกล่าวว่า ผักชูเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย ศรีลังกา เมียนมาร์ ภูฏานและจีนตอนใต้

ผักชูมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Hooker chives และ garlic chives ซึ่งเป็นพืชที่มีการนำไปปลูกในพื้นที่อื่น ๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศจีนและอินเดียมีการปลูกเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อนำไปใช้เป็นอาหาร ผักชูที่อยู่ในธรรมชาติมักพบได้ตามแนวชายป่า ทุ่งหญ้าหรือบริเวณที่มีความชื้นสูง อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,400 – 4,200 เมตร ผักชูเป็นผักที่มีรากอวบจำนวนมาก ส่วนหัวค่อนข้างเล็ก มีก้านดอกยาวขึ้นจากรากหรือเหง้าโดยตรง ก้านดอกยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ใบแบนและแคบ คล้ายกับใบผักแป้นหรือใบกุ๋ยฉ่าย ดอกเป็นแบบร่มสีขาวหรือเขียวอมเหลือง

ผักชูจึงจัดเป็นพืชอวบน้ำ มีอายุได้หลายปี มีใบแตกออกมาเป็นกลุ่ม ทุกประเทศที่รู้จักผักชูจะมีการเก็บจากธรรมชาติ แต่มีการปลูกกันมากในจีนตอนใต้และทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันก็แพร่มาปลูกในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งจะพบว่าบางพื้นที่มีจำหน่ายในท้องตลาดด้วย ผักชูนิยมนำมาประกอบเป็นอาหารกันมาก สามารถกินได้ทุกส่วน ใบ ดอก หัวและราก กินได้ทั้งดิบและนำมาปรุงให้สุก เมนูยอดฮิตกินเป็นผักสลัด นำมาแต่งกลิ่น ผัดหรือต้มก็ได้ ผักชูชอบขึ้นในที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีความชื้นสูง ชอบแดด สามารถแข่งขันกับหญ้าและพืชขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ ได้ดี ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของผักชู แต่มีบางรายงานกล่าวว่า สุนัขจะมีความไวต่อการเกิดพิษต่อผักชนิดนี้มากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ (ผู้ที่รักน้องหมาก็ให้ระวังถ้าคิดจะปรุงอาหารให้กิน)

แม้ว่าผักชูไม่ได้มีข้อกำหนดแน่ชัดในการใช้เป็นยาสมุนไพร แต่ก็จัดได้ว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากผักชูมีซัลเฟอร์สูง ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้ ใช้เป็นยาบำรุงทำให้ระบย่อยอาหารเป็นปกติและช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น

ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียนิยมใช้ผักชูปรุงกับเมนูแกงปลาแทนการใช้หัวหอม ในหลายพื้นที่ที่เป็นอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมจะนำผักชูไปตากให้แห้ง บดเป็นผงใช้แทนเครื่องเทศและหัวหอม แต่มีกลิ่นและรสชาติดีกว่า นอกจากนี้ยังนิยมนำน้ำที่สกัดได้จากผักชูไปทำเป็นน้ำยาบ้วนปากและยาไล่แมลง

หมอยาพื้นบ้านในเมืองมณีปุระของอินเดีย ใช้ผักชูเป็นทั้งอาหารและยา (nutraceutical) ในการชะลอความชรา ในเมืองมณีปุระมีภูมิปัญญาในการเก็บรักษาผักชู โดยการทำให้แห้งด้วยการผึ่งแดดเป็นเวลานาน ๆ ใช้พกติดตัวเมื่อต้องเดินทางไกล เพื่อใช้ประกอบอาหารในระหว่างเดินทาง จากการศึกษาพบว่า ผักชูมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและต้านจุลินทรีย์ ช่วยการเจริญและความแข็งแรงของกระดูก

รากของผักชูมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง ลดโคเลสเตอรอล ทำให้ดีต่อหัวใจ เนื่องจากสารไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) ในผักชู มีโครงสร้างคล้ายกับโคเลสเตอรอล ทำให้สามารถไปแย่งที่ในการดูดซึมโคเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังพบว่าช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดี ผักชูเป็นผักที่มีซัลเฟอร์ค่อนข้างสูง ในตำรับยาของหมอพื้นบ้านในเมืองมณีปุระใช้ใบผักชูคั้นเอาน้ำ ผสมกับเกลือเล็กน้อยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และใช้ใบผักชูตำให้แหลกพอกที่หน้าผาก เพื่อลดอุณหภูมิและความดันของร่างกาย ถ้าร่างกายมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ให้เอารากแห้งของผักชูนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำผสมกับน้ำใช้สีฟัน เพียง 2-3 วัน จะทำให้ร่างกายกระปี้กระเป่าขึ้นมาทันที

ผักชูจึงจัดเป็นอาหารชั้นยอด นอกจากนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีและญี่ปุ่นมีการนำเอาผักชูไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เครื่องสำอางในการดูแลผิวพรรณและทำผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และเครื่องดื่มที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ชะลอวัย

เมืองไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว ผักชู ผลิตภัณฑ์ผักชู อาจเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งเพื่อชูรส ชูใจ ชูกำลังก็ได้.