ภูมิปัญญาท้องถิ่น (2)

 

 

 

 

 

 

การดำรงอยู่ของภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่บนพื้นฐานของความเคารพและศรัทธา
ภูมิปัญญาเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้หลักการความเป็นสาธารณะ ไม่มีการจับจองแสดงความเป็นเจ้าของ
แต่ถ้าหากมีใครสักคนอยากเป็นเจ้าของและต้องการครอบครองภูมิปัญญานี่แหละ?   จะเกิดอะไรขึ้น?

“ใครจะไปครอบครอง แสดงความเป็นเจ้าของภูมิปัญญา ก็เห็นสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ” หลายคนคิดเช่นนี้
แต่บางคนคิดต่างจากเราๆ ค่ะ  คือคิดครอบครองเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา และตลอดเวลาถ้าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ทุกวันนี้เป็นโลกแห่งการคัดลอกทุกเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับตัวเรา จากนั้นก็บอกใครๆ ว่า นี่คือเรื่องของเรา นี่คืองานของเรา

ภูมิปัญญาก็ตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยเช่นกัน มีความเสี่ยงที่ใครบางคนอยากครอบครองภูมิปัญญาแสดงความเป็นเจ้าของหรือฉกฉวยนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน จนบางครั้งทำให้สาธารณชนไม่อาจจะเข้าถึงได้

เช่น การนำเอาภูมิปัญญาด้านสมุนไพรไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมแล้วมีการนำกระบวนการผลิตไปจดสิทธิบัตรแสดงความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว…เห็นมั้ยคะว่า ความเป็นสาธารณะมันหายไป!

จากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายๆ ประเทศร่วมมือจัดทำอนุสัญญาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการดูแลปกป้องและแบ่งปันผลประโยชน์ที่ก่อให้เกิดการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

พอจะรู้จักเรื่องของ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” มากขึ้นแล้วนะคะ
คำถามถัดมา…ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างกันตรงไหน
ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้ที่เกิดในชุมชน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม
ภูมิปัญญาส่วนใหญ่เกิดและนำมาใช้อยู่ในวงแคบ มีการถ่ายทอดผ่านการบอกเล่า ผ่านนิทานพื้นบ้าน ผ่านภาพวาด เป็นต้น
ทางวิทยาศาสตร์บอกว่า การถ่ายทอดความรู้ผ่านนิทานพื้นบ้านซึ่งเป็นเหตุการณ์สมมุติที่ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ และอาจจะเกิดการตีความผิดๆ  และทำให้ภูมิปัญญานั้นสูญหายไปได้ ….ซึ่งก็จริงนะ!

เรื่องของเรื่องจะบอกว่า ภูมิปัญญาเป็นการอธิบายแบบองค์รวม ในขณะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการอธิบายหรือตีความในกรอบที่กำหนด ไม่ได้เอาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์เข้าไปร่วมด้วย มีการอธิบายแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไม่ได้เป็นองค์รวม

ปัจจุบันการอธิบายภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยมิติวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้เหล่านั้นไม่เป็นจริง

การอธิบายภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่ในรูปของมิติวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการ “ไขความลับให้เป็นความรู้”
ซึ่งทำให้องค์ความรู้เหล่านี้สามารถประยุกต์และนำมาใช้ให้เข้ากับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้

 

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #ภูมิปัญญาท้องถิ่น  #สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ   #สสส.