ผู้บริโภค 158 องค์กร จี้ สธ.ขยายฉลากจีเอ็มโอ

วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายประชาชนองค์กรผู้บริโภคกว่า 158 องค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เป็นต้น รวมกว่า 30 คน นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานเครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะคณะกรรมการ คอบช. เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องอาหารจีเอ็มโอ โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ อย. รับหนังสือแทน

น.ส.สารี กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และหยุดร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … แต่หากฝ่ายข้าราชการประจำยังจะเดินหน้าต่อ ก็ขอเสนอให้คณะกรรมการร่างกฎหมาย มีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งด้านเกษตรกรรมและภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่ แต่ฉลากแสดงผลิตภัณฑ์ว่าเป็นพืชที่ดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ต้องชัดเจน จำเป็นต้องมี และต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพราะขณะนี้มีผลิตภัณฑ์มากมายที่เป็นจีเอ็มโอ แต่ไม่ระบุว่าเป็นจีเอ็มโอ ส่วนหนึ่งเพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545 เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมนั้น กำหนดเพียงเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเท่านั้นที่ต้องแสดงฉลาก แต่ความเป็นจริงมีผลิตภัณฑ์มากมายที่เป็นจีเอ็มโอ จึงควรขยายเพิ่มด้วย ทั้งข้าวสาลี มันฝรั่ง แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ แครอท มะเขือเทศ และแซลมอนต้องชัดว่าเป็นจีเอ็มโอหรือไม่

“อยากให้ อย. มีการพิจารณาและเพิ่มเติมในประกาศว่า ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีการดัดแปรพันธุกรรมต้องมีฉลากให้ชัด โดยให้ทำเป็นโลโก้ เหมือนตราสัญลักษณ์ว่า GMO ส่วนผลิตภัณฑ์ไหนไม่มีจีเอ็มโอก็ระบุได้ว่า Non GMO” น.ส.สารี กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหาร ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านฉลากขึ้น ซึ่งได้มีการกำหนดผลิตภัณฑ์ที่มีการดัดแปรพันธุกรรมต้องแสดงฉลาก ที่ผ่านมาเป็นกลุ่มข้าวโพด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยออกมาเป็น 22 ผลิตภัณฑ์ ส่วนที่เครือข่ายผู้บริโภคเสนอว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยนั้น ก็จะมีการพิจารณาและเข้าสู่คณะกรรมการอาหารต่อไป

ที่มาภาพและข่าว : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 ธ.ค.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่วางใจ! มูลนิธิชีววิถีเชื่อกลุ่มทุนจะหาช่องทางอื่นดันจีเอ็มโอ

admin 6 เมษายน 2019

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 ธันวาคม 2558 มูลนิธิชีวว […]

เปิด 4 ข้อท้วงติง สภาพัฒน์ฯ ต่อร่างกฎหมายจีเอ็มโอ

admin 6 เมษายน 2019

จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms: GMOs) หรือสิ่ […]

ร้องนายกฯต้านปลูกพืชจีเอ็มโอแปลงเปิด

admin 5 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชนชั่วคราว สำนัก […]