พุทรา ผลไม้สมุนไพรน่าปลูก น่ากิน

ช่วงนี้คงไปเที่ยวไหนไม่ค่อยได้ เพราะช่วยกันหยุดโรคระบาดโควิด-19 แต่ถ้าคนในท้องถิ่นเที่ยวกันเองก็ช่วยกระจายรายได้ หรือใครที่เคยเที่ยวเมืองเก่าอยุธยาและยังจำภาพทิวทัศน์ได้ดี จะสังเกตเห็นว่ามีต้นพุทรากระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งมีเรื่องเล่าที่เคยได้ยินมานานกว่า 50 ปีที่ผ่านมา (ผู้อ่านคงเดาอายุผู้เขียนได้ ฮา) ตอนนั้นยังเด็กได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า เมื่อครั้งไทยเสียกรุงให้พม่าครั้งที่ 2 ทหารพม่าก็ถ่ายมูลเอาไว้ตามท้องทุ่งผืนดินต่าง ๆ แล้วมูลเหล่านี้มีเมล็ดพุทราออกมาด้วย ทำให้มีต้นพุทราเจริญอยู่ในบริเวณเมืองเก่าเต็มไปหมด จริงเท็จไม่ทราบเล่าต่อ ๆกันมา แต่ที่แน่ ๆ ใครเป็นชาวกรุงเก่าคงได้เห็นชาวบ้านพื้นถิ่นนี้ได้เก็บเมล็ดพุทราที่แก่เต็มที่แล้วมาตำให้แหลก ทำเป็นพุทราแผ่นเอาไปต้มน้ำกินหรือทำเป็นพุทรากวนขายสร้างรายได้ให้กับผู้คนในละแวกนั้นไม่น้อยเลย

พุทรามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน คนจีนปลูกมานานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว และชาวจีนยังนิยมนำพุทรามาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ เพราะชื่อเรียกมีความหมายดีสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความรุ่งเรือง ต้นพุทราจากจีนได้แพร่ไปปลูกในรัสเซีย ตอนเหนือของอาฟริกา ตะวันออกกลาง ไปที่ตอนใต้ของยุโรปซึ่งคาดว่าเข้าไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้นคริสต์ศักราช และตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1837  พุทรามีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Jujube (อ่านว่า จู-จูบ) หรือ Chinese Date เป็นพืชที่อยู่ในสกุล Ziziphus  วงศ์พุทรา (Rhamnaceae)  ปัจจุบันมีการคัดสายพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 400 สายพันธุ์และส่งเสริมการปลูกจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งเป็น  2 ชนิด คือ พุทราอินเดีย มีชื่อสามัญว่า Indian Jujube มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus mauritiana Lam. และพุทราจีน มีชื่อสามัญว่า Jujube หรือ Chinese Date มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus jujube Mill. พุทราทั้ง 2 ชนิด มีเนื้อแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน คือ พุทราจีนมีเนื้อแห้งและฟ่าม ส่วนพุทราอินเดียมีเนื้อที่ฉ่ำน้ำกว่า

พุทราอินเดีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ใบรูปทรงไข่แกมกลมขนาดประมาณ 1 นิ้ว บริเวณลำต้นและกิ่งจะมีหนามแหลม ดอกจะออกเป็นช่อเล็ก ๆ สีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ผลมีเปลือกสีเขียว รูปทรงมีทั้งที่เป็นแบบทรงกลมถึงรูปรี ปลายผลรูปร่างกลมถึงแหลม มีหลายขนาด ผลแก่จะมีสีเหลือง แก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล รสชาติมีทั้งแบบที่หวานสนิท เปรี้ยวอมหวานหรือฝาด มีเมล็ดเดียวอยู่กลางลูก

โดยทั่วไป ต้นพุทรามักจะเกิดขึ้นเองในที่ราบสภาพดินทั่วไปในป่า ซึ่งการขยายพันธุ์ สามารถทำได้ทั้งเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง พุทรามีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ และเป็นยาระบาย ส่วนที่นำมาใช้ เช่น เปลือกลำต้น ใช้ต้มกินแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้อาเจียน ใบนำมาตำสด ๆ ใช้สุมศีรษะแก้อาการเป็นหวัดคัดจมูก ผลดิบมีรสฝาด ใช้รักษาอาการไข้ ผลสุกกินเป็นผลไม้สดหรือแปรรูปด้วยการกวนหรือดองก็ได้ ในตลาดขายเครื่องยาจีนจะเรียกพุทราอินเดียว่า “มี่จ่าว” ซึ่งมีขายในรูปพุทราเชื่อมแห้ง คนจีนไม่ได้กินแต่พุทราจีน กินพุทราอินเดียด้วยโดยเชื่อว่าช่วยในเรื่องการบำรุงตับ

พุทราจีน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก(เล็กกว่าพุทราอินเดีย) ผลัดใบ มีหนามมักมีเป็นคู่  หนามตรงทั้งสองอันหรือตรงอันหนึ่งโค้งอันหนึ่ง ในผลมีเมล็ดเดียว ผิวเรียบ เมื่อผลสุกจะเป็นสีเหลืองหรือบางสายพันธุ์จะเป็นสีแดงเข้ม มีทั้งพันธุ์ผลเล็กและผลใหญ่ ในภาษาจีนเรียกว่า “อั่งจือ” หรือ “อั่งจ๊อ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมุยจ้อ” ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่า พุทราจีนเป็นหนึ่งในห้าผลไม้ที่ดีที่สุด สามารถกินได้ทั้งผลสดและผลแห้ง ในการทำพุทราจีนแห้งง่ายมาก ให้นำผลสุกแก่ของพุทราจีนมาอบจนผิวนุ่ม หรือไม่ก็นำไปต้มในน้ำจนเดือด แล้วนำไปตากแห้ง ก็จะได้พุทราจีนแห้งที่มีรสหวานกว่าพุทราจีนสด

พุทราจีนมีสรรพคุณทางยา กล่าวว่าเป็นสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์อุ่น รสหวาน นิยมนำมาปรุงประกอบในตำรับยาจีนเพื่อช่วยลดฤทธิ์ความรุนแรงของเครื่องยาจีน ช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาได้ดีขึ้น และยังช่วยลดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย ผลสดและแห้งมีส่วนช่วยบำรุงร่างกายโดยเฉพาะม้าม ตับ และสมอง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยเพิ่มปริมาณเลือด บรรเทาอาการโลหิตจาง แก้เบาหวาน แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดไขมันในเลือด และยังใช้กับอาการตับแข็งในผู้ดื่มสุราด้วย นอกจากนี้ชาวจีนยังนิยมกินพุทราจีนแห้งช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งและใช้แก้อาการท้องเสียได้  รากพุทราจีนใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเปื่อย  โรคทางเดินอาหาร และแก้ไข้ได้

ในพุทราจีนมีสารเพกติน (Pectin) ซึ่งจะช่วยจับโลหะหนักที่ตกค้างในร่างกาย และช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ ใบของพุทราจีนจะมีรสฝาดเพราะมีสารแทนนิน (Tannin) ในปริมาณที่สูง ซึ่งสามารถใช้เป็นยาลดไข้ได้ ส่วนเนื้อในเมล็ดของพุทราจีนกินแล้วช่วยผ่อนคลายประสาท ทำให้นอนหลับสบาย พุทราจีนจึงเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีปัญหาปวดประจำเดือนให้ลองกินพุทราเพื่อช่วยลดอาการปวดประจำเดือน และใครที่มักมีอากรขี้หนาว อาการมือเท้าเย็นเป็นประจำ พุทราจีนช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้นลดอาการขี้หนาวได้ด้วย

ใครที่คิดปลูกพุทรารู้ไว้ว่าสายพันธุ์ของพุทราจีนสามารถทนต่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้ดี ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือหนาวก็ทนได้ เคยพบพุทราจีนทนได้กับอุณหภูมิ -32 องศาเซลเซียส แต่พุทราอินเดียทนต่ออากาศหนาวเย็นได้น้อยกว่า อากาศร้อน ๆ แบบบ้านเราปลูกได้สบาย แต่ไม่ว่าจะเป็นพุทราชนิดใดก็ให้ผลผลิตได้ดีขอให้เอาใจใส่บำรุงดูแล

ขอหักมุมสักนิด อ่านมาทั้งหมดในปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์กลับพบว่าได้ใช้หลักฐานทางพันธุกรรมพิสูจน์ให้เห็นว่า พุทราอินเดียและพุทราจีน เป็นพืชชนิดเดียวกัน จึงมีการยุบรวมชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus mauritiana Lam. ให้มาเป็นชื่อพ้องของ Ziziphus jujube Mill.  แต่เราชาวบ้าน ๆ ยังเรียกพุทรา 2 สายพันธุ์ก็ไม่ผิดอาญาใด ๆ เรียกให้รู้แยกให้ออก เพื่อกินให้อร่อยตามรสปากและใกล้ตรุษจีนในเดือนหน้า เตรียมพุทราไว้เทศกาลมงคลกันได้.