ส้มมะปิ๊ด เปรี้ยวจี๊ด ส้มจี๊ด

ส้มจี๊ด หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ส้มมะปี๊ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus japonica Thunb.จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) ซึ่งก็คือพืชในตระกูลมะนาว ส้มโอ ส้มเขียวหวานนั้นเอง ส้มจี๊ดมีชื่อภาษาอังกฤษ ที่นานาชาติรู้จักกันในชื่อ “Kumquats หรือ Cumquats” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนกวางตุ้ง น่าจะออกเสียงว่า “ก่ำควิด หรือ ก่ำควอท” หมายถึงส้มแมนดารินที่มีสีทอง

ส้มจี๊ดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ซึ่งมีบันทึกถึงการใช้ประโยชน์ในประวัติศาสตร์ของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และพบการปลูกมาอย่างยาวนานในแถบเอเชียตะวันออก (ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน) เอเชียใต้ (อินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟิลิปปินส์) ตามประวัติศาสตร์มีผู้นำส้มจี๊ดเข้าสู่ยุโรปในปี พ.ศ. 2389 โดยโรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune) หลังจากนั้นไม่นานก็มีการนำเข้าไปปลูกในอเมริกาเหนือ

เหตุที่ส้มจี๊ดแพร่พันธุ์เป็นที่นิยมนั้น น่าจะมาจากรสชาติที่นำมาทำของกินได้หลากหลาย รูปทรงต้นเป็นไม้ประดับสวยงาม และดอกสีขาว กลิ่นหอมแรง แม้ว่าตามกิ่งมีหนามแหลมคม ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส้มจี๊ดจัดเป็นไม้พุ่มปลูกในกระถางได้พอสวยงาม หรือลงดินก็มีความสูงได้ประมาณ 1.5-3 เมตร และขึ้นได้ทั่วไป ปลูกไม่ยาก แต่ส้มจี๊ดมีความผันแปรทางพันธุกรรมมาก ทำให้มีหลายลักษณะจึงมีบันทึกต่างกันไว้ 4 ลักษณะ คือ

ส้มจี๊ดผลกลม (Round kumquat) ผลค่อนข้างกลมขนาดเล็ก เนื้อส้มรสหวาน แต่อมเปรี้ยวบริเวณใกล้แกนกลาง ผลกินสดหรือนำมาประกอบเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น มาร์มาเลด(คล้ายแยมแต่จะใส่เปลือก ผิว พร้อมเนื้อผลไม้ หรือเรียกแยมผิวส้ม) เยลลี่ และสเปรด(คล้ายแยมเช่นกัน แต่ส่วนผสมมากกว่าครึ่งใช้เนื้อผลไม้แท้ผสมกับน้ำผลไม้เข้มข้น ไม่ใส่น้ำตาล) และอาหารอื่น ๆ ต้นส้มจี๊ดผลกลมนำมาทำบอนไซได้ หรือปลูกเป็นต้นเล็กๆ ในกระถางซึ่งในประเทศจีนและประเทศในเอเชียถือว่าเป็นพืชมงคล ให้ความโชคดี ร่ำรวยแก่ผู้ปลูก หากสังเกตจะพบว่าในเทศกาลตรุษจีนจะนำต้นส้มจี๊ดในกระถางมาตั้งไว้หน้าบ้านหรือประดับในบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล

ส้มจี๊ดผลรูปไข่ (Oval kumquat) ผลรูปไข่กินได้ทั้งผล (เนื้อและเปลือก) เนื้อมีรสเปรี้ยวแต่เปลือกมีรสหวาน ต้นที่อยู่ในธรรมชาติมักมีขนาดเล็ก จึงเหมาะที่จะปลูกในกระถางหรือนำมาทำบอนไซ

ส้มจี๊ดเหมยฮวา (Meiwa kumquat) นำจากจีนเข้าไปปลูกในญี่ปุ่นตอนปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีลักษณะผลกลมมีเมล็ด ใบหนา กินได้ทั้งเปลือกและเนื้อผล ส้มจี๊ดเหมยฮวานี้ยังมีชนิดย่อยๆ อีก คือชนิดฮ่องกง (Hong Kong kumquat) ผลมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่ว รสขมและเปรี้ยวจัด มีเนื้อน้อยมากและมีเมล็ดขนาดใหญ่ มักปลูกเป็นไม้ประดับแต่นับเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดตามธรรมชาติพบได้ที่ประเทศจีนตอนใต้ และชนิดย่อยอีกชนิด คือ ชนิดเจียงสุหรือฟูกูชุ (Jiangsu kumquat หรือ Fukushu kumquat) ผลรูปกลมหรือรูประฆัง เมื่อสุกเต็มที่จะมีสีเหลืองสดใส แตกต่างจากส้มจี๊ดชนิดอื่น ๆ ตรงที่มีใบกลม และมีความแตกต่างจากส้มจี๊ดผลกลมทั่วไป คือ สามารถเจริญเติบโตได้ในที่มีอุณหภูมิหนาวเย็น จากการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่าส้มจี๊ดเหมยฮวา เป็นพันธุ์ผสม

ส้มจี๊ดมาลายัน (Malayan kumquat) เป็นสายพันธุ์ลูกผสมเช่นกัน แต่มีเปลือกบางและขนาดของผลจะใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ ชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกเท่านั้นไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ

การใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ในทางสรรพคุณยาจีนกล่าว่า ผลส้มจี๊ดที่มีรสเปรี้ยวนั้นจะให้พลังเย็น ในขณะเดียวกันรสเปรี้ยวอมหวานก็มีสรรพคุณเกี่ยวกับปอด จึงช่วยอาการเกี่ยวกับปอด ลำคอ ไอ เช่น น้ำคั้นผลส้มจี๊ดใช้ผสมกับเกลือเล็กน้อยจิบกินแก้อาการไอ ขับเสมหะ ผลนำมาดองกับเกลือแล้วทำให้แห้ง ใช้อมแก้อาการเจ็บคอ ช่วยแก้เสียงแหบ ช่วยแก้ภูมิแพ้ที่สำแดงอาการทางลำคอ คนไข้ที่มีอาการปอดชื้นสังเกตได้จากมักเป็นหวัดบ่อยๆ และเป็นๆ หายๆ หรือหายยากและมักมีเสมหะมาก แนะนำให้ชงชาส้มจี๊ดช่วยบรรเทาได้ โดยนำเปลือกมาชงกับน้ำร้อนและแต่งรสด้วยน้ำตาลกรวด(ชาวจีนนิยมใช้เพราะจัดเป็นการแต่งรสหวานที่ไม่เพิ่มฤทธิ์ร้อนกับร่างกาย และรสชาติหวานกลมกล่อม) หรือจะใช้น้ำตาลทรายทั่วไปก็ได้ เปลือกผลดิบกินสด ๆ จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ กินชาส้มจี๊ดยังช่วยแก้ท้องอืด ขับลมในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยย่อยอาหารด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์ท่านหนึ่งที่ช่วยงานวิชาการให้กับมูลนิธิสุขภาพไทยได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ที่สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ ที่ชุมชนบ้านวันยาว อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พบว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เข้มแข็ง ได้ทำการศึกษาพันธุ์ส้มจี๊ดรอบพื้นที่ ประชุมระดมความคิดเห็น จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนพื้นถิ่นจันทบุรีเรียกส้มจี๊ดว่า “ส้มมะปี๊ด” และพบว่าอยู่ในสังคมวัฒนธรรมของชาวจังหวัดจันทบุรีมาไม่น้อยกว่า 200 ปี เนื่องจากบริเวณนี้เป็นดินเค็มปลูกมะนาวไม่ค่อยได้ คนจันทบุรีแต่อดีตจึงใช้ส้มปี๊ดแทนมะนาวมาตลอด เรียกว่าปรุงและประกอบอาหารทุกชนิดจะใช้ส้มมะปี๊ด

ที่น่าตื่นตาตื่นใจในความสามารถของชาวบ้าน คือ การค้นหาสายพันธุ์ส้มมะปิ๊ดในชุมชนได้ถึง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1)สายพันธุ์พวง เป็นพันธุ์ดั้งเดิม ลูกเล็ก เปลือกบาง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว 2)สายพันธุ์ลูกใหญ่ เป็นพันธุ์ลูกผสมที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มา 3)สายพันธุ์ด่าง ลูกด่าง ใบด่าง ใช้ปรุงอาหารได้เหมือนกันแต่ไม่นิยม(น่าจะไม่อร่อย) มักนำมาปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นการเสริมฮวงจุ้ย และ 4)สายพันธุ์หนาม รสชาติเปรี้ยวมากและทนต่อโรคดี ขณะนี้กลุ่มชาวบ้านมีองค์ความรู้และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ใครสนใจกิ่งพันธุ์ ผลสด ของแปรรูปต่าง ๆ เช่น ลูกอม น้ำส้มจี๊ดพร้อมดื่ม ฯลฯ รอโควิด -19 จางหายแล้วไปเที่ยวจันทบุรีอุดหนุน แต่ถ้าอดใจรอรสเปรี้ยวจี๊ดไม่ไหว ลองโทรไปสอบถามกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ โทร. 095-954-1070

ส้มจี๊ด ไม่เพียงรสเปรี้ยวแต่ให้คุณค่าอาหาร สรรพคุณสมุนไพร เป็นไม้ประดับ สืบต่อพันธุกรรมความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย เราช่วยกันๆ.