เปิดผลงานวิจัยสมุนไพรส่งท้ายปี ’55

สร้างจุดแข็งงานวิจัยด้านสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง กับผลงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปีนี้ส่งท้ายปลายปีกันด้วยการเปิดตัวต้นแบบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ใหม่ล่าสุด เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคคนไทย ไม่ต้องเสียเงินให้กับของนำเข้าราคาแพง

“นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์” ผู้ว่าการ วว. บอกว่า วว. ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทย จึงนำสมุนไพรไทยเข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพ เพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทย และสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและที่สำคัญลดการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ

ล่าสุดฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ซึ่งมี ดร.ชุลีรัตน์ บรรจงลิขิตกุล เป็นผู้อำนวยการ ประสบผลสำเร็จในการวิจัย 5 ผลิตภัณฑ์ใหม่จากสมุนไพร ที่มีบทบาทครอบคลุมการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมโดยผลงานแรกเป็นเรื่องของการบำรุงสมอง สร้างความจำ เรียกว่า “เบรนนี่-แท็บ” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดผักใบเขียว ดร.กฤติยา ทิสยากร หัวหน้าโครงการวิจัยนี้ บอกว่า ได้คัดเลือกผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง บัวบกและบร็อกโคลี มาศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อมชั่วคราว แล้วนำมาพัฒนาเป็นยาเม็ดชนิดเคลือบฟิล์มแบบธรรมดา ผ่านการทดสอบกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแล้วพบว่า สามารถลดระดับของเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมองได้เช่นเดียวกับยาที่ใช้รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังผ่านการประเมินความปลอดภัยทั้งต่อสัตว์ทดลองและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อศึกษาประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต่อความจำในอาสาสมัครเปรียบเทียบกับยาหลอกพบว่า “เบรนนี่-แท็บ” มีแนวโน้มในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองโดยไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายเมื่อรับประทานทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับผลงานชิ้นต่อมาตอบโจทย์คนที่มีปัญหาเรื่องรังแค โดยนำสารสกัดตะไคร้ต้นและขิงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางป้องกันรังแคชื่อว่า “ลิทเซียรา” นางรัตนศิริ จิวานนท์ หัวหน้าโครงการฯ บอกว่า ผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปแบบแฮร์โทนิค มีประสิทธิภาพต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุการเกิดรังแค และมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ผลิตภัณฑ์ผ่านการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และผ่านการทดสอบความปลอดภัย และการสำรวจความพึงพอใจในอาสาสมัครจากการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ พบว่า ผู้บริโภคที่มีปัญหารังแคพึงพอใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ อยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางป้องกันแผลเป็นนูน “ลิโค-สการ์ครีม” จากสารสกัดชะเอมเทศ ซึ่งมีสรรพคุณลดการเกิดแผลเป็นนูน ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ใช้ง่าย เหมาะกับผิวหนังของคนไทย และผลิตภัณฑ์เวชสำอางลดฝ้าลดริ้วรอย และผลิตภัณฑ์กันแดด “นิมฟ์ เดอ เมลา” ซึ่งพัฒนาจากสารสกัดดอกบัวสาย ผ่านการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและความปลอดภัยระดับพันธุพิษจากอนุมูลอิสระ รวมทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน และมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนของเซลล์ นอกจากนี้ยังผ่านการทดสอบฤทธิ์ลดอาการอักเสบจากแสง ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันการอักเสบที่ผิวหนังจากรังสี ยูวีเอและยูวีบี

“…สมุนไพรไทยเป็นมรดกทางภูมิปัญญา ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สั่งสมความรู้ ประสบการณ์สืบต่อกันมาช้านาน แม้ว่าความเจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวล้ำเพียงใด แต่สมุนไพรไทยยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ด้วยสรรพคุณทางยาและคุณประโยชน์ที่หลากหลายของสมุนไพรไทยนั่นเอง” ผู้ว่าการ วว. กล่าว ซึ่ง วว. มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีของประเทศ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

จี้ ‘รมว.-ปลัดสธ.’ ออกกฎคุมการวิจัยสมุนไพรในมนุษย์ ยกเคสหมอแสง หวั่นปชช.เสี่ยง

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการและ […]

การวิจัยเรื่องกัญชารักษาโรค

admin 6 เมษายน 2019

โดย…ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหา […]

วิจัยชี้ชัดข้าวรมเมทิลฯตกค้าง ทั้งซาว-หุงสารยังเหลือครึ่ง

admin 4 เมษายน 2019

รศ.ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศา […]