มะกัก พืชถิ่นเดียว

ใครที่เคยไปเที่ยวในป่าสวนหินพุหางนาค จังหวัดสุพรรณบุรี จะได้พบเรื่องราวธรณีวิทยา เกี่ยวกับชั้นหิน และยังได้เรียนรู้ดอกไม้ พืชสมุนไพร ตลอดจนพันธุ์พืชอนุรักษ์หายากจำนวนไม่น้อย สถานที่แห่งนี้ยังเป็นศาสนสถานของคนยุคโบราณ ที่นำหินมาวางซ้อนกันไว้เพื่อประกาศขอบเขตสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย ต่อมานักโบราณคดีเรียกกันว่าวัฒนธรรม “หินตั้ง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิอุษาคเนย์จัดวางเป็นกลุ่มให้ได้ลักษณะต่าง ๆ เพื่อแสดงและยกให้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์

สถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า พุหางนาค มาจากยอดเขาแห่งนี้มีบ่อน้ำพุที่เชื่อว่าเป็นบริเวณของหางนาค ส่วนบริเวณหัวอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี และจากการเดินชมบริเวณป่าแห่งนี้ได้พบต้นไม้ที่น่าสนใจชนิดหนึ่ง ที่แรกเห็นคิดว่าเป็นต้นมะกอกที่เราคุ้นเคยกันดีที่นำมาใส่ส้มตำ แต่เมื่อพิจารณาดี ๆ กลับพบว่าไม่ใช่ แต่คือ มะกัก ที่กำลังออกลูกเต็มต้นและมีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมากในสวนป่าแห่งนี้

มะกัก หรือ มะกอกป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spondias bipinnata Airy Shaw & Forman อยู่ในวงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น กอกกัก (นครสวรรค์) มะกอกป่า (กาญจนบุรี นครราชสีมา) มะกัก หมักกัก (ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี) เป็นต้น มะกักเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ผลัดใบ เปลือกสีเทา เรียบ มีช่องอากาศทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มกว้างและโปร่ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปใบหอก โคนใบเบี้ยว แผ่นใบด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ดอกเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อใหญ่ตามซอกใบและปลายกิ่ง ผลสด กลมรี สีเหลือง อมเขียว มีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด เนื้อไม้ใช้ทำไม้อัด หีบใส่ของ และทำเยื่อกระดาษ นอกจากนั้นยังใช้ทำสีย้อมจะให้สีเขียวมะกอก

มะกัก จัดเป็นพืชถิ่นเดียว หมายถึงพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิดเฉพาะในประเทศไทย พบเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย ขึ้นตามภูเขาหินปูนที่แห้งแล้งในป่าเบญจพรรณหรือป่าละเมาะผลัดใบ ระดับความสูง 50-300 เมตร ออกดอกเดือน เมษายน – พฤษภาคม ออกผลเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม

สรรพคุณตามความรู้ดั้งเดิม เปลือกแก้กระหายน้ำ แก้ไข้ร้อนใน รักษาโรคหนองใน แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ รักษาแผลพุพอง ดับพิษไข้ รากทำให้ชุ่มคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้พิษสำแดง กินของแสลง ใบแก้ปวดในหู บำบัดโรคธาตุพิการ แก้โรคบิด ผลแก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน ทำให้ชุ่มคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้เป็นยาอาบห้ามละลอก (โรคผิวหนังชนิดหนึ่งมีอาการพองเป็นหัวเล็กๆ คล้ายฝี) แก้โรคธาตุพิการ น้ำดีไม่ปกติ แก้บิด แก้โรคน้ำกัดเท้า แก้ไข้หวัดทุกชนิด

ในตำรับดั้งเดิมที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ชื่อ ยามหานิลแท่งทอง ปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย เนื้อในเมล็ดสะบ้ามอญ (Entada rheedei Spreng.) หวายตะค้า (Calamus caesius Blume) เมล็ดมะกอก (Spondias pinnata (L.f.) Kurz) หรือมะกอกป่า (Spondias bipinnata Airy Shaw & Forman) ลูกมะคำดีควาย (Sapindus rarak DC.) ถ่านไม้สัก (Tectona grandis L.f.) แก่นจันทน์แดง (Pterocarpus santalinus L.f. หรือ Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen) แก่นจันทน์เทศ (Myristica fragrans Houtt.) ใบพิมเสน (Pogostemon cablin (Blanco) Benth.) ใบย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) หมึกหอม (Sepioteuthis lessoniana) เบี้ยจั่น (Monetaria moneta) มีสรรพคุณใช้แก้ไข้กาฬ หัด อีสุกอีใส และแก้ร้อนในกระหายน้ำ

เมื่อพิจารณาจากสรรพคุณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยข้างต้น พบว่าสมุนไพรส่วนใหญ่ในตำรับนี้มีฤทธิ์แก้ไข้พิษตัวร้อน แก้พิษไข้กาฬ ตัวยาออกฤทธิ์ คือ เนื้อในเม็ดสะบ้ามอญ (สุม) หวายตะค้า (สุม) ถ่านไม้สัก แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์เทศ ใบพิมเสน ใบย่านาง หมึกหอม มะคำดีควาย(สุม) และยังพบว่ามีสมุนไพรอีก 2 ชนิด ที่มีฤทธิ์แก้ร้อนในกระหายน้ำ คือ มะคำดีควาย (สุม) และเมล็ดมะกอกหรือมะกอกป่า (สุม) เมื่อได้อ่านข้อมูลรายงานการวิจัยของสมุนไพรบางชนิดในตำรับนี้พบว่า ย่านาง แก่นจันทน์เทศ ไม้สัก และพิมเสนต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ และสารประกอบของจันทน์เทศมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้อีกด้วย

นอกจากนี้มีงานวิจัยในปี 2561 พบว่าสารสกัดจากยาในตำรับยามหานิลแท่งทอง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ใช้มะกอกป่า (Spondias bipinnata Airy Shaw & Forman) เป็นสมุนไพรในตำรับยา และในปี พ.ศ. 2563 ได้มีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากยาตำรับมหานิลแท่งทอง มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านการหลั่งสารสื่อที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ดังนั้นงานวิจัยเหล่านี้แสดงข้อมูลเบื้องต้นที่สนับสนุนตำรับยามหานิลแท่งทอง ช่วยรักษาอาการไข้ อาการร้อนในกระหายน้ำ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยนั้นได้ใช้มะกอก (Spondias pinnata (L.f.) Kurz)

ในความรู้ดั้งเดิม ใช้มะกอก หรือ มะกอกป่า ก็ได้ แต่จากงานวิจัยก็มีการใช้มะกอกคนละชนิดทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามะกอกทั้ง 2 ชนิดนั้นสามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ หรือควรใช้มะกอกชนิดใดดีที่สุด จึงเป็นโจทย์ที่ควรศึกษาวิจัยต่อไป โดยเฉพาะมะกอกป่าเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย ถ้าสามารถนำมาใช้ได้จริงในตำรับยานี้ก็จะสามารถสร้างเอกลักษณ์ในยาของไทยได้อย่างภาคภูมิใจเพิ่มขึ้นด้วย