เที่ยวทะเล รู้จักแสมทะเลหรือไม่ ?

เคยสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งอาวไทยในหลายจังหวัด พบว่ามีผู้ที่รู้จักต้นแสมทะเลไม่ถึงร้อยละ 50 และเกือบทั้งหมดไม่รู้ว่าไม้ชนิดนี้มีประโยชน์อะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นไม้ที่มีศักยภาพสูงชนิดหนึ่ง

แสมทะเล เป็นชื่อไม้ยืนต้นที่อยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล อยู่ในสกุล Avicennia ในโลกนี้มีรายงานว่าพืชในสกุลนี้มี 8 ชนิด ในประเทศไทยเคยมีรายงานพบแสมทะเล 3 ชนิด คือ Avicennia alba Blume, Avicennia marina (Forssk.) Vierh. และ Avicennia officinalis L. แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 2 ชนิด คือ Avicennia marina (Forssk.) Vierh. และ Avicennia officinalis L. เพราะมีการจำแนกผิด คิดว่ามี Avicennia alba Blume แต่ที่จริงเป็น Avicennia marina (Forssk.) Vierh. โดยทั่วไปคนพื้นเมืองเรียกแสมทะเลว่า พีพี หรือ พีพีเล ชื่อเกาะพีพีในจังหวัดกระบี่ก็มาจากได้ชื่อแสมทะเลนี้เอง

แสมทะเล ชนิด Avicennia marina (Forssk) Vierh. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า White mangrove, Grey mangrove หรือ Olive mangrove ชื่อทางราชการจึงเรียกว่า “แสมขาว” มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ปีปี (กระบี่) ปีปีดำ (ภูเก็ต) พีพีเล (ตรัง) แสม แสมขาว แสมทะเล (ภาคกลาง) แสมทะเลขาว (สุราษฎร์ธานี) แหม แหมเล (ภาคใต้) เป็นต้น แสมทะเลชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-8 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่ม ส่วนใหญ่มีสองลำต้นขึ้นคู่กัน หรืออาจมีมากกว่า 2 ลำต้น ไม่มีพูพอน เรือนยอดโปร่ง มีรากหายใจรูปคล้ายดินสอ ยาวๆ เหนือผิวดิน เปลือกเรียบเป็นมัน สีขาวอมเทา หรือขาวอมชมพู ต้นที่อายุมากเปลือกจะหลุดออกเป็นเกล็ดบางๆ คล้ายแผ่นกระดาษ และผิวของเปลือกใหม่จะมีสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี ขอบใบเรียบม้วนเข้าหากันทางด้านท้องใบ มีลักษณะคล้ายหลอดกลม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง เป็นช่อเชิงลด ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอก สีส้มอมเหลือง ถึงเหลือง ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน ผลเป็นรูปไข่กว้าง เกือบกลม ขนาดเล็ก ผลแก่เปลือกจะแตกด้านข้างตามยาวของผล และม้วนเป็นหลอดกลม แต่ละผลมี 1 เมล็ด แสมทะเลเป็นไม้เบิกนำที่ขึ้นได้ดีในที่โล่งติดชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่ดินเลนงอกใหม่ที่ค่อนข้างเป็นทราย

ข้อมูลรายงานเกี่ยวกับสรรพคุณ พบว่ามีการใช้ประโยชน์ เช่น แก้ท้องร่วง สมานแผลในปาก แก้พิษจากสัตว์น้ำทุกชนิด โดยเฉพาะปลามีพิษจากทะเลทุกชนิด วิธีการใช้ แก่นไม้(เนื้อไม้) นำมาต้มเป็นยาหม้อดื่ม แก้ท้องร่วง เปลือกไม้ต้มอมน้ำสมานแผลในปาก ทั้งก้านและใบ นำมาเผารมควัน แก้พิษสัตว์น้ำ ใบหรือรากนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกที่แผลที่ถูกปลาหรือสัตว์มีพิษในทะเลกัด หากเป็นพิษงูร้ายแรงให้ตำผสมกับใบเสลดพังพอน (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) ใบกระถิน (Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit) และหัวหอม (Allium oschaninii O.Fedtsch.) โดยตำให้ละเอียดพอกที่แผลและละลายน้ำรับประทาน นอกจากนี้มีข้อมูลว่า นำรากและต้นสับให้ละเอียดแล้วนำมาต้มกับแก่นกำแพงเจ็ดชั้น (Salacia chinensis L.) ใบต้นหูกวาง (Terminalia catappa L.) ต้นตายปลายเป็น (Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.) รับประทานวันละ 2 ครั้ง ลดน้ำตาลในเลือดแก้โรคเบาหวานด้วย

ในมาดากัสกาใช้ใบต้มดื่มขับพิษเมื่อกินปลาที่มีพิษ ใบและเปลือกต้มดื่มและอาบรักษาอาการหิด ขี้เถ้าจากเนื้อไม้ใช้รักษาโรคผิวหนัง ใบใช้ในการรักษา แผลในกระเพาะ ฝีหนอง ข้ออักเสบ อีสุกอีใสและแผลไฟไหม้

ในการศึกษาวิจัยพบว่า แสมทะเลหรือแสมขาว มีสารสำคัญหลายชนิด เช่น กลูโคไซด์ ฟลาโวนอยด์ และอนุพันธุ์ของแนปโทควินโนน ซึ่งแสดงคุณสมบัติในการต้านการแบ่งตัวของมะเร็งและต้านแบคทีเรียบางชนิด น้ำยางจากเปลือกใช้รักษาพิษจากงู และใช้ในการขับรกหลังคลอด (กรณีที่มีปัญหารกไม่ออกหลังคลอด) นอกจากนี้สารสกัดส่วนที่อยู่เหนือผิวดินด้วยเอททานอลและบิวทานอลพบว่า ส่วนที่สกัดได้จากบิวทานอลให้ผลในการต้านจุลินทรีย์ได้ดีกว่าส่วนที่สกัดจากเอททานอล โดยให้ประสิทธิภาพดีทั้งแกรมบวกและแกรมลบ นอกจากนี้ยังต้านเชื้อรา Candida albicans และ Aspergillus flavus ได้ดี และมีการศึกษาในอิหร่านพบว่า สารสกัดจากแสมขาวสามารถต้านไวรัสเริมได้ดีด้วย

ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ข้อมูลจากต่างประเทศเช่นชนพื้นเมืองออสเตรเลีย นำผลมากินเป็นอาหาร เมล็ดก็กินได้แต่ต้องทำให้สุกก่อน เพราะมีสารพิษภายใน แต่สารพิษนี้ถูกสลายได้ด้วยความร้อน ส่วนใหญ่นิยมเก็บมาเลี้ยงวัวโดยเฉพาะเมืองคุชราชในอินเดียและคนพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ ส่วนในอียิปต์นำมาใช้เลี้ยงอูฐ และในส่วนของเปลือกสามารถนำมาทำสีย้อมให้สีแดงและน้ำตาล ควันจากเนื้อไม้ไล่ยุงได้ดี ในอาฟริกาเปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนังและเตรียมสีย้อมที่ให้สีน้ำตาล ใช้กิ่งเล็กทำเครื่องมือดักปลา ทางเหนือของแอฟริกาตะวันออก มีการใช้ไม้มาทำซี่โครงปลาดาว (เรือใบอาหรับแบบดั้งเดิม) ชาวพื้นเมืองออสเตรเลียนำไม้มาทำที่กำบังลม และเนื้อไม้แสมทะเลคล้ายไม้โกงกางอื่น ๆ ที่ป้องกันปลวกได้

แสมขาว เป็นไม้ป้องกันการกัดเซาะตามแนวชายฝั่งและต้านลมได้ดี ทนทานต่อพื้นที่ที่มีโลหะหนักสูง ในส่วนของรากสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางชีวภาพในการติดตามปริมาณของทองแดง ตะกั่วและสังกะสีได้ดีด้วย เนื้อไม้มีสีและลายสวยงามนิยมนำมาทำเป็นเสาเรือน ต่อเรือ รั้วบ้าน เนื้อไม้ยังใช้เป็นฟืนหรือเผาถ่าน โดยเฉพาะนำมาเผาเปลือกหอยเพื่อทำปูนขาว

เที่ยวทะเลครั้งต่อไป นอกจากชื่นชมทิวทัศน์แล้ว ชวนเรียนรู้แสมทะเลไปพร้อมกัน และชวนนักวิจัยไทยลองศึกษาไม้ดีริมทะเลต้นนี้ด้วย.