มูลนิธิผู้บริโภคเผย’อาเซียน’ห้ามใส่หมามุ่ยในอาหารเสริม

จากกรณีที่มีผู้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากหมามุ่ยอินเดีย ชนิดแคปซูล แล้วเกิดอาการแพ้ จนเสียชีวิตนั้น

นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกประเทศในอาเซียนไม่ได้ใช้หมามุ่ยทุกสายพันธุ์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามหลักเกณฑ์ของ “คณะกรรมการด้านวิชาการยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของอาเซียน” (ASEAN Harmonisation on Traditional Medicine and Health Supplements) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศมาเลเซีย ลาว และเมียนมาร์ อนุญาตให้ใช้หมามุ่ยในยาแผนโบราณ แบบมีเงื่อนไข ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรเก็บคืนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดทันที รวมถึงผู้ประกอบการควรต้องมีจิตสำนึกให้ระงับการขายและการโฆษณาเช่นกัน

“แนวโน้มตอนนี้คนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต อย.ควรจัดการ เพราะเป็นผู้ที่ถือกฎหมายเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะทำผิดในช่องทางสื่อไหน เช่น ทีวี หรืออินเทอร์เน็ต อย.ควรประสาน ICT (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ให้ปิดเว็บที่ขายสินค้าดังกล่าว เพราะหากลองค้นหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากหมามุ่ยก็ยังพบเยอะไปหมด ไม่มีใครหยุดขายเลย และหาซื้อได้ง่ายมาก บางยี่ห้อขายเพียงซองละ ๓๐ บาทเท่านั้น” นางสาวสถาพร กล่าว

เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดอ่อนของผู้บริโภค คือ ไม่สามารถรู้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา และยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยแอบอ้างใช้สัญลักษณ์ อย. ดังนั้น อย.จึงมีหน้าที่ปราบปราม เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค

นางสาวสถาพร เสนอว่า ต้องการให้ อย.เปิดเผยรายการผลิตภัณฑ์ที่ อย.อนุญาตให้โฆษณา เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ขายแต่ละประเภทว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่ หากพบว่าเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
ตามประกาศของคณะกรรมการด้านวิชาการยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของอาเซียน ที่ห้ามใช้หมามุ่ยทุกสายพันธุ์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากมีสารที่เป็นอันตรายคือ โดปามีน นิโคติน และไฟโซสติกมีน ซึ่งทำให้เกิดอาการใจสั่น มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีอาการประสาทหลอน และความดันโลหิตต่ำ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 21 มิ.ย.2559

บทความที่เกี่ยวข้อง

โพลล์ชี้ ปชช.เชื่อมั่นมูลนิธิผู้บริโภคสอบข้าวถุง

admin 4 เมษายน 2019

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจเรื่อง การตรวจสอบสารตกค้ […]