เร่งกำหนดบัญชียามุ่งเป้า “ราคาแพง-คนใช้มาก-ส่งออกได้”

รองนายกฯ ชี้ ค่าใช้จ่ายด้านยาสูงลิบ 1.6 แสนล้านบาท เหตุนำเข้าสูง ยาในบัญชียาหลักฯ ส่วนใหญ่ยังผลิตเองไม่ได้ เร่งจัดทำร่างนโยบายระดับชาติ กำหนดบัญชียามุ่งเป้าที่มีราคาแพง คนใช้มาก ส่งออกได้ หวังส่งเสริมการวิจัยและผลิตเองในประเทศ เพิ่มการเข้าถึงยา ลดค่าใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 ว่า คณะกรรมการได้จัดทำร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ 1. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยา สมุนไพร และชีววัตถุ เพื่อความมั่นคงทางยาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. พัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน 3. พัฒนาระบบกลไกเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 4. พัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพระดับสากล และ 5. สร้างเสริมกลไกการประสานงานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ใช้ยาสมเหตุผล ประเทศมีความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันยาเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของระบบประกันสุขภาพ โดยปี 2558 มีมูลค่ายารวม 162,914 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้ายามีสัดส่วนสูงกว่าการผลิต คือ 2 ต่อ 1 และร้อยละ 37 ของรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ขณะที่ศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมสุขภาพอื่น จึงต้องเร่งบูรณาการมาตรการเพื่อการเข้าถึงยา ควบคุมค่าใช้จ่ายและสร้างเศรษฐกิจ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้ผลิตยาภาคเอกชน จะร่วมกันจัดทำแผนการพัฒนายาตามบัญชียามุ่งเป้า คือ ยาราคาแพงที่มีการใช้มาก ยาที่มีศักยภาพส่งออกสร้างรายได้ และยาสมุนไพรที่วิจัยพัฒนาในประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 1 ก.ค. 2559 เพื่อเสนอกรอบรายการยาเพื่อคัดเลือกเป็นยาบัญชีมุ่งเป้า” รองนายกฯ กล่าวและว่า ส่วนมาตรการเร่งด่วนสำหรับยาตามบัญชียามุ่งเป้า ได้แก่ การจัดทำข้อมูลสถานะสิทธิบัตรยา การกำหนดช่องทางเร่งด่วนขึ้นทะเบียนตำรับยา และการส่งเสริมการผลิตและวิจัยพัฒนายาในประเทศ

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากแผนการพัฒนายาตามบัญชียามุ่งเป้า คณะกรรมการยังได้ประกาศนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ ยาฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นและคุ้มครองความปลอดภัยด้านยา ในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด สธ.

ที่มา : ข่าวผู้จัดการออนไลน์ 30 มิ.ย.2559

บทความที่เกี่ยวข้อง