ยาปราบชมพูทวีป สยบอาการหวัดและแพ้อากาศ

ใครที่ไม่คุ้นเคยชื่อยาโบราณก็อาจตั้งข้อสงสัยว่ายาปราบชมพูทวีป คือยาอะไร ? ถามหาที่มาของชื่อก็ยังไม่มีหลักฐานว่าเรียกกันเช่นนี้ด้วยเหตุใด แต่พบว่าการตั้งชื่อยาแบบฉบับดั้งเดิมนั้นเหมือนให้พลังใจพลังในตัวยาเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ แต่ถ้าพูดถึงการใช้ประโยชน์ก็จะพบการสืบต่อความรู้ตำรับยานี้มาอย่างยาวนาน น่าจะใช้ในวิถีพื้นบ้านบางแห่ง และมีบันทึกในตำรายาโบราณหลายแห่งซึ่งมีหมอแผนไทยนำมาปรุงใช้ต่อ ๆ กันมา

เท่าที่พอทราบประมาณปี พ.ศ. 2538 เริ่มมีการพัฒนาและยอมรับเป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาล โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลสูงเนินได้ทำการศึกษาวิจัย จนในเวลานี้ยาปราบชมพูทวีปได้รับการบรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และมีการใช้เพิ่มขึ้นในสรรพคุณซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยไข้จำนวนมาก นั่นคือ บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ ลองนึกดูถ้าไม่นับไข้โควิด-19 ปกติเราก็ป่วยไข้เป็นหวัดกันบ่อย ๆ และยิ่งระยะหลังอาการแพ้อากาศ อาการภูมิแพ้ก็เป็นกันมากมาย

ในเวลานี้หน่วยบริการสุขภาพที่มีแพทย์แผนไทยประจำการ หรือในคลินิกแพทย์แผนไทย คนไข้ใดที่มีอาการภูมิแพ้หรือแพ้อากาศก็จะได้รับการจ่ายยาปราบชมพูทวีป ปัจจุบันมีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ในการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยภูมิแพ้ พบว่าหลังใช้ยาครบ 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผู้ป่วยบางรายที่กินยาปราบชมพูทวีปแล้วยังช่วยให้เจริญอาหาร กินอาหารได้ดีขึ้นซึ่งน่าจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอขึ้นจึงทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย ปัจจุบันจึงมีการใช้ยาปราบชมพูทวีปทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน กล่าวคือใช้แทนยาในกลุ่ม Antihistamine (แก้แพ้) ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) และ ลอราทาดีน (Loratadine) ที่มีสรรพคุณแก้แพ้ และลดน้ำมูก นั่นเอง

ตามประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรตำรับยาปราบชมพูทวีปนั้น ประกอบด้วยตัวยามากถึง 23 ชนิด จะเสาะหามาทำเองอาจไม่สะดวก ปัจจุบันมีผลิตจำหน่ายเพื่อความสะดวกของผู้ใช้ แต่ขอนำส่วนประกอบยามาแสดงให้รู้จัก เนื่องจากในการทำงานของมูลนิธิสุขภาพไทย พบตำรับยาปราบชมพูทวีปที่หมอพื้นบ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาท่านหนึ่ง มีความแตกต่างแต่ก็ใช้ในสรรพคุณที่ตรงกัน นำมาเปรียบเทียบให้เรียนรู้ ขอเริ่มจากตำรับทางการที่ประกาศไว้

ตัวยาสำคัญ 465 กรัม ได้แก่ 1)กัญชาเทศ (ใบ) 120 กรัม 2) พริกไทยดำ (ผลแก่จัดแห้ง) 120 กรัม 3)เหงือกปลาหมอ (ทั้งต้น 120 กรัม 4)กานพลู (ดอกตูม ก่อนบาน) 10 กรัม 5) หัศคุณเทศ (ลำต้น และ/หรือราก) 10 กรัม 6)ขิง (เหง้า) 8 กรัม 7)เจตมูลเพลิงแดง (ราก) 8 กรัม 8) บุกรอ (เหง้า) 8 กรัม 9)สมอเทศ (เนื้อผล) 8 กรัม10)สมอไทย (เนื้อผล) 8 กรัม 11)เทียนแกลบ (ผล) 6 กรัม 12)เทียนแดง (เมล็ด) 6 กรัม 13)เทียนตาตั๊กแตน (ผล) 6 กรัม 14)โกฐเขมา (เหง้า) 4 กรัม 15)โกฐสอ (ราก) 4 กรัม 16)เทียนดำ (เมล็ด) 4 กรัม 17)พิลังกาสา (ผล) 4 กรัม 18)ลำพันหางหมู (เหง้า) 4 กรัม 19)การบูร 2 กรัม 20)ดีปลี (ช่อผล) 2 กรัม 21)กระวาน (ผล) 1 กรัม 22)ดอกจันทน์ 1 กรัม 23)ลูกจันทน์ (เมล็ด) 1 กรัม

ต่อไปนี้เป็นตำรับยาของป้าถวาย กลั่นพจน์ เป็นชาวพระนครศรีอยุธยามาแต่กำเนิด ปัจจุบันท่านจากไปแล้วทิ้งไว้เพียงมรดกความรู้ ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยเก็บภูมิปัญญาไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ป้าถวายเรียนวิชาหมอพื้นบ้านมาจากบิดา และบอกเล่าตำรับยาปราบชมพูทวีปของท่านมีส่วนประกอบยา 26 ชนิด ดังนี้ 1)ลูกจันทน์ หนัก 1 เฟื้อง 2)ดอกจันทน์ หนัก 1 สลึง 3)การบูร หนัก 1 สลึง 4)ลูกกระวาน หนัก 1 สลึง 1 เฟื้อง 5)ดีปลี หนัก 2 สลึง 1 เฟื้อง 6)ลูกพิลังกาสา หนัก 3 สลึง 7)รำพันหางหมู หนัก 3 สลึง 1 เฟื้อง 8)เทียนแดง หนัก 5 สลึง 1 เฟื้อง 9)เทียนตาตั๊กแตน หนัก 6 สลึง 1 เฟื้อง 10)เทียนแกลบ หนัก 7 สลึง 11)ขิงแห้ง หนัก 7 สลึง 1 เฟื้อง 12)ลูกสมอเทศ หนัก 9 สลึง 13)หัวบุกรอ หนัก 9 สลึง 1 เฟื้อง 14)กานพลู หนัก 10 สลึง 15)โกฐสอ หนัก 1 บาท 16)โกฐเขมา หนัก 1 บาท 1 เฟื้อง 17)เทียนดำ หนัก 1 บาท 1 สลึง 18)เทียนขาว หนัก 1 บาท 1 สลึง 19)ว่านน้ำทั้งห้า หนัก 1 บาท 3 สลึง 20)เจตมูลเพลิง หนัก 2 บาท 21)ลูกสมอไทย หนัก 2 บาท 22)หัสคุณเทศ หนัก 5 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง 23)เหงือกปลาหมอ หนัก 30 บาท 24)พริกไทยล่อน หนัก 30 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง 25)ใบกัญชาเทศ หนัก 31 บาท 2 สลึง 1 เฟื้อง 26) เกลือสินเธาว์ หนัก 1 บาท

นำตัวยาทั้งหมดตากแห้งบดเป็นผง ผสมนม เนย น้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเมล็ดในเม็ดนุ่น รับประทานครั้งละ 2-3 เม็ด ก่อนอาหาร วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น กินต่อเนื่องสัก 1 สัปดาห์ ข้อสังเกตเมื่อกินยานี้จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัวไม่ต้องตกใจ ข้อแนะนำ เมื่อกินยาตำรับนี้ให้งดกินยาอื่น

เมื่อพิจารณา 2 สูตรตำรับพบว่าตัวยาเหมือนกันเกือบทั้งหมด ที่ต่างกันคือ ตำรับของป้าถวายใช้น้ำหนักยาไม่เหมือนกันและใช้การชั่งตวงวัดแบบโบราณ ทั้งยังมีสมุนไพร 3 ชนิดที่เพิ่มขึ้นมา คือ เทียนขาว ว่านน้ำ และเกลือสินเธาว์ การเพิ่มว่านน้ำก็มีความน่าสนใจเพราะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้หวัดด้วย และหากพิจารณายาตำรับนี้ ตัวยาหลักๆ คือ เหงือกปลาหมอ พริกไทย และสมุนไพรอื่นๆ ที่มีรสร้อนจำนวนมาก กินแล้วอาจแสบร้อนทรวงอกได้ และไม่ควรใช้ในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีไข้สูงๆ เพราะจะทำให้ร่างกายร้อนยิ่งขึ้น อาการไวรัสที่ไม่ใช่แพ้อากาศก็ไม่ควรใช้ และใช้อย่างระมัดระวังในคนที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน

ยาปราบชมพูทวีปนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของภูมิปัญญาดั้งเดิม ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน เป็นการพึ่งพาตนเองด้านยาของไทยที่ดีอย่างหนึ่งด้วย