ยาเลือดงาม

ประชากรไทยชายและหญิงทั้งประเทศ พบว่าจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งประเทศสตรีมากกว่าชายประมาณ 1.4 ล้านคน ความแตกต่างทางเพศ มีผลต่อความแตกต่างของสภาพร่างกาย จิตใจ ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจง หรือเรียกว่า “วาระเฉพาะ” ของสุขภาพสตรีก็ย่อมมีความสำคัญ

อ้างถึงตำราดั้งเดิม คัมภีร์มหาโชตรัต หรือตำราว่าด้วยโรคสตรีโดยเฉพาะ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงลักษณะสตรีที่มีความแตกต่างจากบุรุษ ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดามีความแตกต่างจากชาย 4 ประการ คือ 1. ถันประโยธรหรือเต้านม 2.จริตกิริยา คือ การแสดงออก กริยาอาการหรือฤติกรรม 3. ที่ประเวณีหรืออวัยวะเพศ 4. ต่อมโลหิตระดูก็คือมดลูก ซึ่งเป็นที่การเกิดโลหิตระดู หากการมีระดูหรือประจำเดือนปกติดีก็ย่อมดีต่อสุขภาพสตรี แต่ถ้าร่างกายไม่ปกติ ระดูมาไม่ปกติล่ะก็ส่งผลต่อสุขภาพสตรี

โบราณท่านกล่าวอีกว่า การที่ระดูไม่ปกติหรือโลหิตปกติโทษนั้น มีที่มาได้ 5 ประการ กล่าวโดยย่อ ถ้าเกิดมาแต่หทัย มีอาการกระสับกระส่าย มีอารมณ์โกรธ ถ้าเกิดมาแต่ขั้วดี ไข้ลง ซึม นอนสะดุ้ง ถ้าเกิดมาแต่เนื้อ มีอาการร้อนผิวเนื้อกายและแดงดังคล้ายตำลึงสุก บางทีเป็นผดผื่นทั้งตัว ถ้าเกิดมาแต่เส้นเอ็น มีไข้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก ถ้าเกิดมาแต่กระดูก อาการเมื่อยขบไปทุกข้อกระดูก ปวดหลังปวดเอว

เชื่อว่าสตรีหลายท่าน หรือใครที่มีพี่น้องและเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้หญิงย่อมเคยได้ฟังอาการเช่นนี้ แต่ในศาสตร์โบราณยังมีความลุ่มลึกกล่าวไว้อีกว่า โลหิตระดูหรือประจำเดือนที่อาจแปรปรวนไม่ปกตินั้น ยังเกี่ยวกับหลักทฤษฎีธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วย หรือโลหิตที่เกิดจากกองธาตุ 4 อย่าง ถ้ากองธาตุใดไม่ปกติก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาพนั่นเอง อธิบายโดยย่อเช่นกันได้ว่า 1) โลหิตเกิดแต่กองเตโชธาตุ ถ้าระดูกำลังมาร่างกายตึงไปทั่ว ให้ร้อนทางช่องคลอด ร้อนผิวเนื้อตัว สะบัดร้อนสะบัดหนาว 2) โลหิตอันบังเกิดแต่กองวาโยธาตุ เมื่อระดูมาทำให้ท้องอืดจุกให้เสียด ตัวร้อน มีไข้บางเวลา ระดูไม่ค่อยสะดวก 3) โลหิตอันบังเกิดแต่กองอาโปธาตุ เมื่อระดูจะมามากเป็นเมือกเป็นมัน เหม็นคาวโลหิต ปวดท้องมาก เดินเหินไม่สะดวก 4) โลหิตอันเกิดแก่กองปถวีธาตุ เมื่อระดูมามีอากรปวดเมื่อยตามข้อและกระดูก จุกเสียด ระดูมาไม่สะดวกปวดท้องมากเช่นกัน

ในการบำบัดแก้ไขนั้น หมอยาไทยจะจัดตำรับยาให้สอดคล้องกับสมุฏฐานวินิจฉัย หรือ การค้นหาสาเหตุ ตรวจ วินิจฉัยต้นเหตุแห่งโรคนั้น แล้วจัดตัวยาให้เหมาะกับโรค นอกจากนี้ทางมูลนิธิสุขภาพไทยได้ทำงานกับหมอพื้นบ้านในหลายจังหวัดก็พบตำรับยาเกี่ยวกับโลหิตระดูของสตรีมากมาย ที่หมอพื้นบ้านปรุงยาเฉพาะราย อย่างไรก็ตามตำรับยาไทยก็มีสูตรยาที่เป็นตำรับกลางๆ ใช้แก้อาการที่เป็นกันทั่วไป ยังไม่ถึงกับที่จะต้องให้หมอผู้ชำนาญการปรุงยาเฉพาะรายให้กิน ตำรับยาหนึ่งที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยรู้จักมานานเกือบ 30 ปี ต่อมาตำรับยานี้ได้รับการรับรองและบรรจุอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ซึ่งมีความสำคัญในระดับประเทศ ชื่อยาเรียกตรงไปตรงมาจนเห็นภาพได้ว่าเป็นตำรับยาเพื่อสุขภาพสตรีจริงว่า ยาเลือดงาม สรรพคุณที่ประกาศไว้ ใช้แก้ปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ และแก้มุตกิด (ตกขาว ระดูขาว)

ตัวยาประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ไม่สะดวกต่อการหามาปรุงเอง แต่เมื่อตำรายาประกาศในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติฯ แล้ว เท่ากับว่าอยู่ในระบบสวัสดิการรักษาพยายบาลหรือระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศทุกระบบ จึงมีสิทธิเบิกค่ายาได้ไม่ต้องกังวลใด ๆ ขอนำตัวยาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมมากล่าวไว้ ประกอบด้วย เหง้าขิงแห้ง ตะไคร้บ้าน (ลำต้น) สะระแหน่(ทั้งต้น) เหง้ากระชาย เหง้ากระทือ ผิวมะกรูด ใบมะนาว รากและใบกะเพรา เหง้ากระเทียม เปลือกเพกา โกฐจุฬาลัมพา ช้าพลู(ทั้งต้น) ลูกเร่วหอม ลูกจันทน์ ดอกกานพลู ดอกดีปลี เหง้าไพล พริกไทยล่อน รากเจตมูลเพลิงแดง รากชะเอมเทศ สมุนไพรทั้งหมดหนักสิ่งละ 5 กรัม และผสมพิมเสน การบูร หนักสิ่งละ 1 กรัม

ตัวยาทั้งหมดทำเป็นผง มีวิธีกินได้ 2 วิธี คือ เอาผงยา 1-2 กรัม ละลายน้ำสุกกินวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ปัจจุบันมีการบรรจุแคปซูล ให้กินครั้งละ 1 – 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ข้อห้ามใช้ในหญิงตกเลือด สตรีหลังคลอด สตรีตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้

ความรู้ยาไทยยังแนะนำสำหรับสตรีที่เลือดลมในร่างกายเดินไม่ปกติ มีปัญหาผิวพรรณหมอง ผดผื่นขึ้นหน้า หรือรู้สึกร่างกายเหี่ยวแห้งไม่มีน้ำมีนวล ไม่ค่อยมีกำลังวังชาด้วย ก็จะแนะนำให้กิน ยาบำรุงโลหิต ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการประกาศใช้ในบัญชียาหลักเช่นกัน ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้สมุนไพรจำนวนมาก แต่ใครที่ต้องการแนวพึ่งตนเอง ตำรับยาพื้นบ้านที่มูลนิธิสุขภาพไทยเคยรวบรวมไว้ตอนลงทำงานกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านทางภาคตะวันออก มีตำรับยาบำรุงโลหิตหญิงให้งาม ใช้ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ ดอกคำฝอย ดอกสัตตบุษย์ ดอกจำปี ดอกจำปา เกสรบัวหลวง นำมาตากแห้งบดผงผสมเข้ากัน ใช้หนักอย่างละ 2 สลึง (3.75 กรัม) ชงน้ำร้อนดื่ม รสชาติหอมกินง่าย

ที่ง่ายสะดวกมีมาจากความรู้ของหมอพื้นบ้าน พ่อหมอสิงห์ บรรเทาโฮม ที่จ.อุดรธานี แนะนำให้ใช้ กิ่งหรือเนื้อไม้จากต้นประดงเลือด หรือ กำลังเลือดม้า ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Knema angustifolia (Roxb.) Warb. นำมาแช่น้ำสะอาด ให้ตัวยาออกมาสีแดง ๆ แล้วกินแก้อาการเลือดลมของสตรี ที่มีเม็ดผดผื่นขึ้นมา และยังบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติของน้องคนหนึ่งที่ทำงานกับมูลนิธิฯ ด้วย

ภาคการเมืองมี MOU จัดทำวาระประเทศ อยากชวนมาทำ “วาระยาไทย” และ”ยาสตรี” บำรุงเลือดให้งามเพื่อสุขภาพสตรีดีหรือไม่ ?