ระวัง! โรค มือ เท้า ปากในศูนย์เด็กเล็ก

กระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ที่มาในหน้าฝน ป้องกันการระบาดช่วงเปิดเทอม ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เน้นการรักษาความสะอาดในห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตรวจคัดกรองเด็กป่วยทุกวัน หากพบป่วยหรือสงสัย แยกเด็กป่วยและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพิ่มความเข้มข้นในฤดูกาลระบาด ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ชี้รอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี ปีนี้ตั้งแต่มกราคม-11 พฤษภาคม พบผู้ป่วยแล้ว 11,795 ราย ไม่มีเสียชีวิต ผู้ป่วย 3 ใน 4 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ คาดผู้ป่วยอาจพุ่งถึงกว่า 30,000 ราย

ระวัง! โรค มือ เท้า ปากในศูนย์เด็กเล็ก สธ.คาดยอดป่วยพุ่ง 3 หมื่นราย
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นห่วงคือ โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) ซึ่งพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ประกอบกับช่วงนี้โรงเรียนต่างๆ เริ่มเปิดเทอม เด็กๆ จะมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสเกิดการระบาดของโรคนี้ได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ จากการติดตามประเมินสถานการณ์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก สูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2556 พบผู้ป่วยสูงถึง 45,961 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 0-4 ปี ในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ ว่า ในปี 2557 จะพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 26,000 – 39,000 ราย และจะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคเป็นประจำทุกปี และพบผู้ป่วยมากในช่วงที่ 2 ประมาณเดือนธันวาคมซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาว จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ในปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-11 พฤษภาคม พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้ว 11,795 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยพบมากที่สุดเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี คิดเป็น 3 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่รับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็กซึ่งมีประมาณ 20,000 แห่ง และประสานงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ดูแลโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา ขอให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการป้องกันควบคุมโรคตามที่กำหนด และให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ครู ครูพี่เลี้ยง ครูอนามัยโรงเรียน ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอม โดยในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ขอให้ทุกพื้นที่เข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาดของโรค โดยเน้นให้ครูตรวจคัดกรองเด็กทุกคน ทุกวัน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติ ตามผู้ปกครองมารับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่เด็กอื่น

นอกจากนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ให้ความสำคัญในการรักษาเด็กเล็กที่มีอาการป่วยโรคมือ เท้า ปาก ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โดยขอให้แพทย์ซักประวัติการเจ็บป่วยโรคมือ เท้า ปาก ของเพื่อนในโรงเรียน เพื่อนบ้าน หรือคนในครอบครัวด้วย เพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต มีอาการของโรคมือ เท้า ปาก ไม่ชัดเจน คือไม่ตุ่มน้ำใสหรือแผลในปากที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าไม่มีไข้ และไม่มีแผลที่บริเวณในคอหอย จึงต้องเพิ่มการซักประวัติประกอบด้วย

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในลำไส้หลายชนิด เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ที่พบบ่อยคือเชื้อคอกแซกกี เอ 16 (coxsackie A 16) โดยเชื้อไวรัสเข้าไปทางปาก จากการที่มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน มีเพียงประมาณ 1 ใน 10,000 ราย ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเชื้อเอนเทอโรไวรัสที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง มักไม่มีอาการของโรคมือเท้าปาก แต่จะมีไข้ อาเจียนและถ่ายเหลวรุนแรง ร่างกายขาดน้ำ ปอดบวมน้ำ หอบเหนื่อย ซึม ชักเกร็ง คอแข็ง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตจากทางเดินหายใจและหัวใจล้มเหลว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หากป่วยแพทย์จะรักษาตามอาการ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดส่วนบุคคลของเด็ก และสิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเด็กจะอยู่รวมกันและเล่นของเล่นร่วมกัน โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะชอบหยิบของเล่นเข้าปาก จะต้องดูแลให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ล้างทำความสะอาดของเล่น อุปกรณ์ ของใช้ และสถานที่ อย่างสม่ำเสมอ หากพบเด็กป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ต้องรีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด หากพบผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน อาจพิจารณาปิดโรงเรียนชั่วคราว 5-7 วัน เพื่อทำความสะอาด โดยใช้สบู่หรือผงซักฟอกขัดล้างตามพื้นผิวสัมผัสต่างๆ แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น คลอร็อกซ์ หรือไฮเตอร์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้ว ล้าง เช็ด หรือแช่ด้วยน้ำสะอาด ส่วนของเล่นเด็กที่อาจเอาเข้าปากได้ ให้ล้างด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกตามปกติ และนำไปผึ่งแดด ประชาชนมีข้อสงสัยโทร.สอบถามได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 0-2590-3159, 3238 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 พ.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง