รู้ “ประเภท-ปริมาณ” หลักกินยาปลอดภัย

ก่อนจะเอ่ยถึงหลักการกินยาเบื้องต้นให้ปลอดภัย ขอชวนเช็กพฤติกรรมของตัวคุณเองก่อนว่า เวลาปวดหัว มีไข้ เป็นหวัด หรือเจ็บคอ คุณบรรเทาอาการดังกล่าวนี้อย่างไร…

หากคำตอบที่ได้ มีว่า “กินยาเพื่อบรรเทาอาการ” หรือ “กินยาแล้วนอนพัก” อยากให้ถามตัวเองเพิ่มอีกนิด “กินยาแต่ละชนิดบ่อยแค่ไหน” เพราะในปัจจุบัน พบประเด็นการใช้ยาที่ควรพึงระวังว่า คนไทยกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด รวมถึงกินยาผิดประเภทการรักษา และกินยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ฯลฯ ค่อนข้างมาก

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ มีข้อควรรู้อะไรบ้าง ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำตอบ พร้อมอธิบายถึงการกินยาเบื้องต้นไว้ว่า ยาแต่ละชนิดกินเพื่อบรรเทาอาการ จึงควรรู้ปริมาณการกินที่เหมาะสม และควรกินให้ตรงกับโรคที่ต้องการจะรักษา จึงจะปลอดภัยและเป็นประโยชน์

ข้อควรระวัง ยาแก้ปวด-ลดไข้

“การกินพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้เบื้องต้นนั้นถูกต้องแล้ว แต่ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของประชาชนก็คือ การใช้ยาไม่ถูกขนาด” ผศ.นพ.พิสนธิ์ให้ความรู้ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การกินพาราเซตามอลแต่ละครั้ง ไม่ควรได้รับเกิน 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากหนัก 50 กิโลกรัม ก็ไม่ควรได้รับยาเกิน 750 มิลลิกรัม

“พาราเซตามอล 1 เม็ด มีปริมาณยา 500 มิลลิกรัม หลายคนเกรงว่ากิน 1 เม็ด จะไม่หายปวด ก็เลยเลือกกิน 2 เม็ด นั่นเท่ากับว่า เขาจะได้รับยา 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างตัวเล็ก หากกินพาราฯ 2 เม็ด ก็ย่อมเป็นปริมาณที่เกินขนาด”

ฉะนั้น เมื่อนำปริมาณและน้ำหนักมาคำนวณดูก็จะพบว่า คนที่กินพาราฯ 2 เม็ดได้ปลอดภัย ไม่มีผลทำร้ายตับ จะต้องมีน้ำหนัก 67 กิโลกรัมขึ้นไป โดยจะต้องรู้ด้วยว่า พาราเซตามอล กินเกิน 8 เม็ดต่อวันไม่ได้

“นอกจากนี้ ปริมาณที่เหมาะสมของการกินพาราเซตามอล สำหรับคนทั่วไปที่ต้องกินต่อเนื่องเพื่อลดไข้ หรือบรรเทาอาการปวด ควรเป็น 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง หากกินเกิน ถามว่าผลเสียมีหรือไม่ ตรงนี้บอกได้ว่าการกินพาราฯ เกิน เป็นพิษต่อตับ การกินเยอะเกินไปติดต่อกันหลายวันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ตับอักเสบ มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง เมื่อเซลล์ตับถูกทำลายมากๆ ก็อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้”

เป็นที่มาของ “โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” เพื่อแก้ปัญหาการใช้ยา เช่น การเขียนฉลากยาให้ชัดเจน และรัดกุมมากขึ้น

หวัด-ภูมิแพ้ แยกให้ออก

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องยา อธิบายว่า ผู้ป่วยจะต้องแยกให้ออกระหว่าง การเป็นภูมิแพ้ และ การเป็นหวัด เนื่องจาก “ภูมิแพ้” เกิดจากภูมิต้านทานของมนุษย์ที่ไวต่อสิ่งที่มากระตุ้น ทำให้จาม หรือมีน้ำมูก ซึ่งการเป็นโรคภูมิแพ้นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับ “เชื้อโรค” ขณะที่ “หวัด” เกิดจากเชื้อโรคที่เรียกว่า เชื้อไวรัส เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้น้ำมูกไหล

“สิ่งที่ทำให้เราแยกไม่ออก ก็ด้วยเหตุของฉลากยาที่เขียนว่า ยาแก้แพ้ ใช้ลดน้ำมูก ซึ่งจริงๆ ก็เขียนถูก เพราะยาเหล่านี้ใช้ลดน้ำมูกจากโรคภูมิแพ้เท่านั้น แต่เมื่อถูกนำมาใช้ลดน้ำมูกจากการเป็นหวัดด้วย น้ำมูกจึงไม่แห้ง อีกประเด็นที่สำคัญคือ ยาแก้แพ้มี 2 ประเภท (1)กินแล้วค่อนข้างง่วง (2)กินแล้วไม่ค่อยง่วง ซึ่งคนส่วนมาก จะไปหาซื้อยาชนิดไม่ง่วงมากินเป็นหลัก โดยไม่รู้ว่ายาแก้แพ้ที่กินแล้วไม่ง่วงนั้น ไม่ออกฤทธิ์ลดน้ำมูกในคนที่เป็นหวัดเลย ส่วนยาที่กินแล้วง่วง ก็ออกฤทธิ์ได้บ้างเท่านั้น”

สรุปได้ว่าถ้าจะใช้ยา “แก้แพ้” คุณต้องเป็นโรคภูมิแพ้ พร้อมทำความเข้าใจใหม่ว่า “โรคหวัด” เป็นโรคที่ไม่มียารักษา แต่เป็นโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถหายได้เอง จากภูมิต้านทานของร่างกาย

“ปฏิชีวนะ” ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ

โอกาสที่วันรณรงค์สร้างความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotic Awareness Day ทุกวันที่ 18 พฤศจิกายนใกล้เข้ามา โดยในปีนี้ร่วมรณรงค์ให้วันที่ 17-23 พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์ส่งเสริมการให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย

ผศ.นพ.พิสนธิ์ ร่วมให้ความเห็นต่อประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะว่า สถานการณ์เชื้อโรคดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยคนไทย และทั่วโลกต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาโรคนานขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่สังคม เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่สมเหตุผลมากขึ้น โดยยาปฏิชีวนะ เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อกินเข้าไปทุกครั้ง ก็จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา

“บางคนเป็นหวัดพร้อมเจ็บคอ จะไปซื้อยาอมมาบรรเทาอาการ ข้อควรรู้ก็คือยาอมบางชนิดจะผสมยาปฏิชีวนะ ไว้ เมื่อกินเข้าไปทุกครั้ง ก็จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น ตรงนี้คนที่ไปซื้อยากินเองควรถามเภสัชกรทุกครั้งว่า ยาอมที่จ่ายให้มา มีผสมยาปฏิชีวนะไว้หรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ควรซื้อมากิน นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนมักจะได้คู่กันมา ก็คือยาแก้อักเสบ ชื่อยาที่มักใช้เรียกแทนยาปฏิชีวนะ ซึ่งแม้จะได้มากินเพิ่มเพื่อบรรเทาอาการก็ไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ขณะที่ยาปฏิชีวนะ เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย

พึงระลึกว่าปริมาณและประเภทของยาคือสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ หากต้องการกินยาเพื่อบรรเทาอาการ อย่าได้กินเกินขนาด หวังหายไว เพราะอาจได้รับอันตรายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุชภาพ(สสส.) 10 พ.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

กินยามากสร้างปัญหาผมร่วง

admin 2 เมษายน 2019

รู้หรือไม่ ยาหลายๆ ขนานที่คนทั่วไปใช้รักษาโรคกันอยู่นั้ […]