ไทยตายจากเชื้อดื้อยาเพียบ ห่วงหว่านใช้ยาคนใน “พืช-สัตว์”

เมื่อ (18 พ.ย.) ที่โรงแรมแมนดาริน กทม. นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ วันรู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ : เป้าหมายการทำงานในอนาคต จัดโดยแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะเป็น 1 ใน 8 ประเด็นสำคัญทางสาธารณสุขของไทย เพราะเมื่อดูจากสถานการณ์การดื้อยาแล้ว พบว่า ไทยประสบปัญหามากกว่าสหรัฐฯและยุโรปอย่างชัดเจน โดยประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน มีคนตายจากเชื้อดื้อยาถึง 38,000 คนต่อปี ขณะที่สหรัฐฯมีประชากรราว 300 ล้านคน มีคนตายจากเชื้อดื้อยาเพียง 23,000 คนต่อปี ส่วนยุโรปประชากรกว่า 500 ล้านคน มีคนตายจากเชื้อดื้อยาเพียง 25,000 คนต่อปีเท่านั้น โดยการแก้ปัญหาต้องดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กพย. มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น

“อย่างกรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ก็จะทำให้เกิดยาตกค้างภายในสิ่งแวดล้อม ทำให้เชื้อแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมมีโอกาสได้รับยาปฏิชีวนะ ทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น รวมถึงเมื่อคนไปรับประทานเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างก็ส่งผลให้เชื้อดื้อยาด้วย เรื่องนี้เราพยายามที่จะสร้างความเข้าใจว่ายาที่ยังมีประโยชน์ในคนก็ควรจำกัดให้ใช้ในคนก่อน ไม่ควรนำไปใช้ในสัตว์ เพราะคนยังจำเป็นต้องใช้ หากเกิดเชื้อดื้อยาขึ้นมาคนเรานั่นเองที่จะเดือดร้อน ซึ่งการดูแลควบคุมการใช้ยาในสัตว์นั้นจะมีกฎหมายของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมกำกับอยู่ อย. ก็คงต้องทำงานร่วมกัน โดยจะต้องหาทางออกให้แก่เกษตรกรด้วยว่า หากจะจำกัดการใช้ยาที่ควรใช้ในคนก่อน จะมีทางออกอื่นอะไรในการช่วยเหลือเกษตรกร” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้องดำเนินการในหลายส่วน ที่สำคัญคือ ต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้ยาให้เหมาะสมทั้งในระดับวิชาชีพ ประชาชน และนานาชาติ โดยเฉพาะประชาชนในเรื่องของการกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง โดยพบว่า คนที่กินยาได้ครบทั้งหมดตามที่แพทย์สั่งมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งการกินยาไม่ครบจำนวนบ่อยครั้งก็จะส่งผลให้เชื้อดื้อยาได้ นอกจากนี้ ยังต้องเร่งกำจัดยาปลอมด้วย โดยเฉพาะบริเวณแถบชายแดนทั้งลาว กัมพูชา ซึ่งมีการผสมยาปฏิชีวนะไม่ได้ขนาด หรือน้อยเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่ สปสช. จะเร่งดำเนินการคือการผลักดันร้ายขายยาคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านขายยาโดยไม่จำเป็นต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล ซึ่งประเด็นนี้เคยเสนอเข้าสู่บอร์ด สปสช. ไปแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องมุมมองของบางหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ดี จะมีการเสนอเข้าสู่บอร์ด สปสช. อีกครั้งหลังช่วงปีใหม่ 2558

“ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากไปโรงพยาบาล และมักนิยมซื้อยามากินเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยการผลักดันร้านยาคุณภาพของ สธ. ซึ่งมีเภสัชกรประจำร้านและให้คำแนะนำที่ดีแก่ประชาชนเข้าสู่ระบบหลักประกันฯ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถควบคุมระดับความดัน ระดับน้ำตาลได้ดี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และโรคที่เภสัชกรสามารถให้คำแนะนำได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล แต่สามารถมารับยาได้ที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้านได้ ก็จะเป็นการประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัญหาการนำยาปฏิชีวนะมาใช้รักษาโรคพืชและผสมอาหารในสัตว์โดยอ้างว่าเพื่อรักษาโรคนั้น กฎหมายได้เปิดช่องเอาไว้ แต่ที่เป็นปัญหาคือไม่มีใครมาทำตามหลักเกณฑ์ มานั่งตรวจสัตว์ทีละตัวว่าตัวนี้ควรใช้ยาอะไรในการรักษา เพราะยุ่งยากลำบาก เนื่องจากเขาทำเป็นระดับอุตสาหกรรมคือเลี้ยงจำนวนมาก เกษตรกรก็จะอาศัยฉีดพ่นไปทั่ว ผสมอาหารก็อาศัยผสมอาหารให้สัตว์กินไปทีเดียว อ้างว่าเพื่อการรักษาป้องกันโรคไว้ก่อน การจัดงานในวันนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหา เพราะหากต้องการให้ยาปฏิชีวนะใช้ไปได้นานๆ ก็ต้องใช้ให้น้อยที่สุดและเหมาะสมที่สุด ประเด็นสำคัญคือต้องสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเสียก่อนเป็นด่านแรก ไม่ใช่ใช้ยามาช่วยป้องกันการเจ็บป่วย

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 พ.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

“แมลงวัน” ตัวแพร่ “ยีนดื้อยาอันตราย”

admin 6 เมษายน 2019

รายงานพิเศษ นสพ.คมชัดลึก วงการแพทย์ทั่วโลกเร่งวิจัยสืบค […]

10 พฤติกรรมนำพา ‘เชื้อดื้อยา’

admin 6 เมษายน 2019

ปลายปีแบบนี้ “โรคหวัด” ถือเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิต เพราะหลา […]

ไทยตายจากเชื้อดื้อยาวันละ 100 ราย สูงกว่าทั่วโลก

admin 6 เมษายน 2019

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ในงานแถ […]