ร่วมกันสงวนรักษา “นวดไทย” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ

 

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นวดไทย(Nuad Thai) ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลกแล้ว เป็นข่าวดีส่งท้ายปีและน่าจะได้ชื่นชมเป็นของขวัญปีใหม่ของชาวไทยกันถ้วนหน้าไปอีกนาน

            ความสำเร็จนี้เกิดจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และองค์กรสาธารณประโยชน์มากมาย มูลนิธิสุขภาพไทยเป็นหนึ่งในหน่วยงานทางวิชาการและประสานงานมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งยอมรับว่าทำงานด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เตรียมข้อมูลนำเสนอยูเนสโก โชคดีที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายให้การสนับสนุน และเหนืออื่นใด คือ การลงพื้นที่ 4 ภาคไปพบปะและขอการยินยอมจากหมอนวดไทยนั้น ได้รับพลังแรงใจและความมุ่งมั่นในการปกปักษ์รักษานวดไทย วันนี้ขอบันทึกประวัติศาสตร์นวดไทยไว้อีกบทหนึ่ง ซึ่งเป็นงานวิชาการที่ทำเสนอยูเนสโก ให้คนไทยได้เข้าใจและช่วยกันสงวนรักษามรดกนี้ด้วยกัน

            ยูเนสโกอยากรู้ว่า นวดไทยเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร แน่นอนไม่ใช่ของใครคนเดียว เราตอบยูเนสโกว่า ผู้ถือครองหรือผู้ปฏิบัตินั้น แบ่งออกเป็น 5 ภาคส่วน (sectors) ดังนี้ 1. ภาคประชาชน (popular sector) คือ บุคคล ครอบครัว ชุมชน ทั่วประเทศไทยผู้รับและใช้นวดไทย 2. ภาคประชาสังคม (civil society) หมายถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ที่ทำงานส่งเสริมและพัฒนาการนวดมานาน มีอยู่จำนวนมากมาย เช่น สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เป็นต้น  3. ภาควิชาชีพ (professional sector) ได้แก่ สภาการแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medical Council) และสมาคมและสถาบันการเรียนการสอนของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการนวดไทย  4. ภาครัฐ (State sector) มีหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงแรงงาน เป็นต้น 5. ภาคเอกชน (Private Healthcare sector) ที่ให้บริการทั้งการรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

            เราพบข้อมูลเป็นที่ประจักษ์มาแต่อดีตว่า คนไทยใช้นวดไทยในการดูแลสุขภาพในครัวเรือนและชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ มีหมอนวดพื้นบ้านทั้งประเทศรวมมากกว่า 2 หมื่นคน ปัจจุบันมีการให้บริการนวดไทยในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยทั้งระดับ primary care, secondary care และ tertiary care ข้อมูลผู้รับบริการนวดไทยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละกว่า 4 ล้านครั้ง และยังมีสถานประกอบการเอกชนที่ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพทุกจังหวัดด้วย

            หัวใจสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเสนอให้ยูเนสโกซึ่งมีสมาชิกทั่วโลกยอมรับ คือประเด็นว่า นวดไทยนั้นอยู่ในบริบทวัฒนธรรมของสังคมไทย และมีองค์ความรู้พัฒนาต่อยอดอยู่ในสังคมไทยมาแต่เนิ่นนานอย่างไร สรุปย่อ ๆ ได้ว่านวดไทยเป็นทั้งศาสตร์ ศิลป์ และวัฒนธรรมในการดูแลสุขภาพซึ่งมีหลักฐานในประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปได้กว่า 500 ปี บางท่านอาจจะอ้างว่านานกว่านั้น นวดไทยมีการใช้มือหรือส่วนต่างๆของร่างกายในการปรับพลังและโครงสร้างของร่างกายโดยไม่ใช้ยา(non-medicinal remedy) เป็น            การรักษาด้วยตนเอง และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เพื่อบำบัดความเจ็บป่วยที่เกิดจากลมในเส้น (sen) ติดขัด และทำให้ธาตุทั้ง 4 (dhatu or four body elements) ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ให้เป็นปกติ 

             กล่าวคือ เส้นในร่างกายมนุษย์ของการนวดไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากเส้นลมปราณ (meridian) ของการแพทย์จีน และนาฑี (nadi) ของโยคะศาสตร์ ศาสตร์ของการนวดไทยนั้นถือว่าร่างกายมนุษย์มีเส้นเป็นเครือข่ายร่างแหเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันมีจำนวน 72,000 เส้น โดยมีเส้นหลักอยู่ 10 เส้น เรียกว่า เส้นประธานสิบ การนวดไทยใช้เส้นประธานสิบเป็นหลักในการตรวจวินิจฉัยและบำบัด วิธีการบำบัดใช้การกด คลึง บีบ จับ ทุบ สับ ดัด ดึง ด้วยมือหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ศอก เข่า เท้า และยังใช้อุปกรณ์การนวดตนเองที่ประดิษฐ์ขึ้น และใช้ลูกประคบสมุนไพร เพื่อลดการอักเสบและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หมอนวดไทยยังมีจุดเด่นที่มักใช้จิตวิทยาในการปลุกปลอบให้กำลังใจด้วยความกรุณาด้วย

            ยูเนสโกคงรู้และเห็นว่านวดไทยแพร่หลายสร้างงานและเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่สิ่งที่ยูเนสโกเน้นมากและเป็นจุดชี้ขาดว่า นวดไทยจะเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมหรือไม่ อยู่ที่คำยืนยันประโยชน์ที่จะได้รับจากมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเสนอไว้จนปลดล็อกความกังวลของคณะกรรมการยูเนสโก ดังนี้

1.ชุมชนท้องถิ่นจะรวบรวม อนุรักษ์และสืบทอดบันทึกความรู้ของชุมชน โดยชุมชนเอง นำไปสู่การศึกษาวิจัยในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศ เปิดโอกาส ยอมรับและเสริมพลังชุมชนในการศึกษาประสบการณ์และการปฏิบัติของหมอนวดไทยในท้องถิ่น ต่อการดูแลสุขภาพในชุมชน และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชน ท้องถิ่นและภูมิภาค  รวมทั้งมีการสืบสานการปฏิบัติ จริยธรรม และแบบอย่างการดำเนินชีวิตจากครูหมอนวดไทยรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่

2.เครือข่ายหมอนวดไทย รวมตัวกันเองและทำงานแบบอาสาสมัครเกิดความเข้มแข็ง ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ มีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการใช้นวดไทยในทางที่ผิดและ ไม่เคารพต่อภูมิปัญญาการนวดไทย อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อการนวดไทย มาตรการสนับสนุนเครือข่ายหมอนวดไทยยังจะทำให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะทางวิชาชีพนวดไทย โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายเอง

3.ประชาชนทั่วไปได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัย โดยประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ให้บริการและสถานที่ให้บริการที่มีคุณภาพเชื่อถือได้

4.เพื่อให้การสงวนรักษาภูมิปัญญาการนวดไทยต่อเนื่องนั้น กลไกของรัฐและงบประมาณ ควรมุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคชุมชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาชีพ ดำเนินงานด้วยตนเองและร่วมกันปกป้องและคุ้มครองภูมิปัญญาการนวดไทย

            ของขวัญปีใหม่ของคนไทยและรัฐบาลไทย เราดีใจและภูมิใจนวดไทยกันแล้ว เราต้องมาช่วยกันทำมาตรการ 4 ข้อที่ยูเนสโกมีมติรับรองด้วยนะ.