ภูมิปัญญาป่าชายเลน : หนามพุงดอแก้โรคหนาว

 

 

 

 

 

 

 

 

ในที่สุดก่อนสิ้นปีนี้ คนไทยก็ได้สัมผัสกับความหนาวเย็นจริงๆของเหมันตฤดูกับเขาซะที หลังจากร้อนอ้าวมาค่อนปี หนาวนี้คนเคยหนุ่มรุ่นสุเทพ วงศ์คำแหงคงได้มีโอกาสครวญเพลง “เหมันต์พิศวาส” อ้อนคุณย่าว่า       “เหมันต์แล้วคุณ ผมคอยพบคุณ เนื้ออุ่นแอบใจ ขอเพียงเอื้ออกให้อิง แอบอกอุ่นดังผิงไฟ…”(ฮา)

หนาวจัดอย่างนี้หลายท่านที่มีอัฐคงได้อะเมสซิ่งไทยแลนด์ กับแม่คะนิ้ง เหมยขาบที่อาบยอดหญ้าขาวโพลนบนดอยสูง ช่วยให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ฟื้นฟูอีกครั้ง ในขณะที่อีกหลายชีวิตต้องประสบกับภัยหนาวและโรคหนาวเข้ากระดูกที่หมอแผนไทยเราเรียกว่า “โรคลมเปลี่ยวดำ” ฟังชื่อก็วังเวงแล้ว โรคลมชนิดนี้เกิดจากร่างกายกระทบกับความเย็นจัดจนเป็นตะคริว ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งอย่างรุนแรง ถึงขั้นกระตุก ทำให้เจ็บปวดบริเวณที่เป็นมาก ถ้าเป็นไม่มาก มักแก้ได้โดยการนวดจุดบริเวณใต้ตาตุ่มด้านใน ถ้าเป็นหนักก็ต้องแก้ด้วยยาตำรับโบราณชื่อ “ยาสังข์วิไชย”หรือ “ยาทำลายพระสุเมรุ” ซึ่งเป็นตำรับยาใหญ่มีเครื่องยากว่า 20 ชนิด ซึ่งมีรสประธานเป็นรสร้อนแก้เย็น ยาตัวหลังมีเข้ากัญชาเป็นหนึ่งใน 4 ตำรับแรกที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ผลิตใช้ในคลินิกการแพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญาแพทย์ศาสตร์อาจเป็นความเชี่ยวชาญที่ซับซ้อน แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่รุ่นปู่ย่านั้นเป็นวิถีง่ายๆในชีวิตประจำวัน เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยในแต่ละฤดูกาล อย่างหน้าหนาวก็จะมีคำฮิตติดปากว่าเป็นยาม “ข้าวใหม่ปลามัน” คือข้าวมียางหอมมัน และกุ้ง หอย ปู ปลา ก็มีทั้งมันและไข่เต็มท้อง เป็นอาหารบำรุงร่างกายให้อบอุ่นในยามหนาว ที่สำคัญคือไม่เพียงแค่ให้อบอุ่น แต่ยังช่วยบำรุงกำลังให้คึกคัก จนเป็นสำนวนว่าหนุ่มสาวมักเลือกฤกษ์แต่งงานในยาม “ข้าวใหม่ปลามัน”(ฮิ ฮิ)

ต้นหนาวปีกุนนี้ ประเทศไทยได้สูญเสียปราชญ์ภูมิปัญญานิเวศน์สามน้ำแห่งแม่กลองท่านหนึ่งชื่อ สุรจิต ชิรเวทย์ (หรือพี่เจี๊ยว)อดีตสว.สมุทรสงคราม ผู้เคยชักชวนชาวประชา “มากินปลาให้แมวอาย” อันลือลั่นมาแล้ว ท่านไม่เพียงรู้ลึกเรื่องระบบนิเวศน์ของเมืองสามน้ำบ้านสวนกึ่งทะเลแถบป่าชายเลนเท่านั้น แต่ยังรู้ลึกเรื่องอาหารสุขภาพยามข้าวใหม่ปลามันด้วย ดังนั้นเพื่อนพ้องที่เดินทางไปร่วมส่งวิญญาณพี่เจี๊ยวที่เมืองสามน้ำ ก็ต้องหาทางแวะแกะรอยภูมิปัญญาข้าวใหม่ปลามันตามร้านอาหารพื้นถิ่นที่เขาใช้พืชผักพื้นบ้าน กุ้ง หอย ปู ปลาธรรมชาติ ปราศจาก 3 สารพิษและฟอร์มาลีน(ฮา)มาปรุงอาหารเป็นยาร้อนๆเลิศรสแก้ไอเย็นในร่างกาย คลายโรคภัยไข้เจ็บที่มากับลมหนาว เมนูอาหารผักยาพื้นบ้านแก้โรคหนาวที่ขอแนะนำในที่นี้ คือ ทุกเมนูที่มียอดใบหนามพุงดอ เป็นหลักไม่ว่าจะเป็นแกงอ่อมหนามพุงดอปูทะเลไข่ ต้มยำกะทิกุ้งสดหรือปลาสดหนามพุงดอ หรือจะยำหนามพุงดอสดๆดิบๆให้ได้รสยาแท้ก็ไม่ว่ากัน รับรองอร่อยทุกเมนู รสชาติเหมือนกินผักหวาน ส่วนที่เอามาใช้กิน คือส่วนยอดอ่อนที่ปลายกิ่ง (เหมือนเก็บยอดชา) ถ้ามีหนามติดมาให้เอาออก

แค่ได้ยินชื่อ ต้นหนามพุงดอ(ชื่อวิทย์ : Azima sarmentosa) คนส่วนใหญ่ก็เสียวแสยงแล้ว เพราะหนามแหลมปลายแข็งของมันเป็นพิษ หากปักเนื้อใครเข้าจะเจ็บปวดมาก ถ้าไม่รีบถอนออกหนามจะยิ่งดูดฝังเข้าไปในเนื้อเกิดการอักเสบถาวร วิธีแก้เมื่อถอนหนามออกแล้ว ก็ใช้รากสดของเขานั่นแหละฝนกับเหล้าให้ออกสารข้นๆแล้วทาลงที่แผล ลดปวดอักเสบได้ ชะงัดนัก ปกติวิธีนี้คนรุ่นก่อนเคยใช้ทาแก้คางทูมและเกลื่อนฝีอักเสบ ทาแก้เจ้าโลกของคุณชายฟกบวม แก้โรคผิวหนังเป็นตุ่มคัน แม้กระทั่งแผลฝีดาษก็เคยใช้รักษามาแล้วในอดีต ยิ่งกว่านั้นรสจืดเปรี้ยวนิดๆฤทธิ์เย็นอ่อนๆของน้ำฝนรากหนามพุงดอเข้มข้น ใช้รับประทานดับพิษไข้ตานซางในเด็กเล็ก กระทุ้งพิษไข้ และเป็นเครื่องยาตัวหนึ่งในตำรับสังข์วิไชย ที่ใช้แก้อาการเย็นจัดของโรคลมเปลี่ยวดำและยังช่วยแก้โรคนอนไม่หลับกระสับกระส่ายได้ไม่แพ้กัญชา

โดยทั่วไปต้นหนามพุงดอถูกจัดเป็นวัชพืชอันตรายเพราะหนามรอบข้อของเขา และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ด้วยกองทัพเมล็ดนับพันที่เข้ายึดพื้นที่เสื่อมโทรมได้แม้กระทั่งพื้นที่ดินเค็มจัด แต่ความพิเศษของต้นหนามพุงดอก็คือไม่ดูดเก็บความเค็มไว้เหมือนต้นเหงือกปลาหมอ หรือ ชะคราม จึงเป็นผักโซเดียมต่ำ แถมในใบมีความมันของน้ำมันมัสตาร์ด ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเป็นอย่างดี เสน่ห์ของใบอ่อน หนามพุงดออุดมด้วยคลอโรฟิลล์ แม้ถูกต้มเดือดนานๆก็ยังคงความเขียวเข้มเหมือนมรกต ยามหนาวนี้หากใครลงใต้ลองแวะอุดหนุนอาหารสุขภาพยอดหนามพุงดอได้ทุกเมนู แล้วท่านจะได้รสสามมันของอาหารชาวแม่กลอง คือ มันปลา ปู กุ้ง มันกะทิสด และมันใบหนามพุงดอ เพื่อไล่โรคหนาวออกจากกาย และยังเป็นเคล็ดว่าสามารถเอาชนะขวากหนามยามส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่2563 เพราะขนาดหนามพุงดอ ก็ยังกินมาแล้ว(ฮา)