สทน.วิจัยสมุนไพรช่วยผู้ป่วยมะเร็งต้านพิษจากรังสี

การฉายรังสีแกมมา ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะสามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่เซลล์ที่ดีมักได้รับความเสียหายไปด้วย จึงมีผู้ป่วยไม่น้อยที่หันมาให้ความสนใจกับการทานสมุนไพรที่มีการอ้างอิงว่ามีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ และช่วยต้านพิษจากรังสีควบคู่ไปกับการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคในปัจจุบัน

แต่จะมีใครรู้บ้างว่าสมุนไพรหรืออาหารเสริมที่ทานเข้าไปนั้นมีผลกระทบต่อการรักษาโรคอย่างไร…

ดร.กนกพร บุญศิริชัย และ ดร.สุวิมล เจตะวัฒนะ สองนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จึงทำการวิจัยสารสกัดสมุนไพรมีผลกระทบต่อการตอบสนองของเซลล์มะเร็งขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สทน. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผลงานนี้ได้รับรางวัลดีเด่น ในกลุ่มงานวิจัยประเภทผลกระทบของรังสีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการขององค์การพลังงานนิวเคลียร์แห่งประเทศอินโดนีเซีย (BATAN) เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ดร.กนกพร หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า สมุนไพรที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และช่วยต้านพิษจากรังสีได้นั้นอาจมีหลายชนิด แต่สมุนไพรที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคได้แก่ มะรุม ซึ่งมีความสามารถต้านมะเร็งบางชนิด และต้านอนุมูลอิสระด้วย ทีมวิจัยจึงสนใจศึกษาว่าสารสกัดจากใบมะรุมจะออกฤทธิ์เสริมหรือต้านผลของรังสีในเซลล์มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในสตรี

ทั้งนี้หากพิจารณาจากฤทธิ์ต้านมะเร็งของใบมะรุม อาจคาดการณ์ได้ว่าสารสกัดจากใบมะรุมจะออกฤทธิ์เสริมกัน หรือไม่ส่งผลกระทบต่อผลของรังสีในการฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่หากพิจารณาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจคาดการณ์ได้ว่าสารสกัดจากมะรุมจะออกฤทธิ์ปกป้องเซลล์มะเร็งจากผลของรังสี ทำให้การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงต้องทำการศึกษาเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าว

ดร.กนกพร บอกว่า การทดลองเริ่มต้นโดยสกัดสมุนไพรที่ใช้ คือ สารสกัดหยาบจากใบมะรุม และเซลล์มะเร็งที่ใช้ คือ เซลล์มะเร็งเต้านม (breast adenocarcinoma cells) และศึกษาผลกระทบที่จะทำการตรวจวัด คือ การแตกหักของดีเอ็นเอภายในเซลล์มะเร็ง

ดร.กนกพร กล่าวต่อว่า ในการทำวิจัย เราเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งเต้านมในห้องทดลอง แล้วให้สารสกัดหยาบจากใบมะรุมแก่เซลล์ก่อนนำไปฉายรังสีแกมมา เมื่อฉายรังสีแล้ว จึงนำเซลล์มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณการแตกหักของดีเอ็นเอ เปรียบเทียบกับเซลล์ที่ไม่ได้รับสารสกัด

ผลการทดลองพบว่าสารสกัดหยาบจากใบมะรุมมีผลลดการแตกหักของดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็งเต้านมที่ได้รับรังสีแกมมา ซึ่งหมายความว่า สารจากใบมะรุมจะไปลดการทำลายเซลล์มะเร็งของรังสีแกมมา ฉะนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหากต้องรักษาด้วยการฉายรังสี แต่รับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง หรือต้านอนุมูลอิสระ จะทำให้การฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะทำให้เซลล์มะเร็งจะถูกทำลายจากรังสีได้น้อยลง

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังครอบคลุมการทดลองกับเซลล์ที่เพาะเลี้ยงในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น หากจะสรุปเป็นคำแนะนำแก่ผู้ป่วย ดร.กนกพร บอกว่า มีแผนการจะขยายขนาดของการวิจัยให้ใหญ่ขึ้น แต่ผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการนี้อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดความระมัดระวังในการใช้สมุนไพรในกลุ่มอาหารเสริมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน

และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมุนไพรเหล่านี้ กับการรักษาตามแบบแผนปัจจุบันด้วยว่า อาจมีผลต้านกันหรือเสริมกันหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยมะเร็งและผู้บริโภคต่อไป

ที่มา : เดลินิวส์ 8 ม.ค.57

บทความที่เกี่ยวข้อง

‘เดนมาร์ก’ จ่อทดลอง ‘กัญชารักษาผู้ป่วย’

admin 6 เมษายน 2019

กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก แถลงว่า เตรียมเริ่มโครงการทดลอ […]

คนไทยรังเกียจผู้ป่วยเอดส์เพิ่มขึ้น พบ 80% ไม่รู้รับยาต้านฯฟรี

admin 6 เมษายน 2019

วันนี้ (25 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) […]

พบเชื้ออีโบลาแฝงใน “ดวงตา” ผู้ป่วยนานนับเดือน

admin 6 เมษายน 2019

ไวรัสอีโบลาซึ่งระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตก ทำให้มีผู้คนล้ […]