เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี2556

ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ

“ภญ.ศิริพร”ผู้ร่วมเปิดโปงทุจริตสั่งซื้อยา 1,400 ล้านบาท คว้ารางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมปี 2556 วอนเพื่อนพี่น้องเภสัชฯ ออกจากห้องยาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการใช้ยาไม่เหมาะสมในชุมชน เตือนขอให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและสังคมเป็นที่ตั้ง จะช่วยให้ประชาชนยอมรับวิชาชีพเภสัชฯมากขึ้น

ในงานการประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ.2556) “100 ปีวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์: บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 2” จัดโดยสภาเภสัชกรรม ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค. 2557 ที่ห้องประชุม ตั้ว ลพานุกรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวานนี้(12ม.ค.)

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) เป็นประธานมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2556 ให้แก่ ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ เภสัชกรประจำโรงพยาบาลสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ รศ.ภญ.พรเพ็ญ เปรมโยธิน ประธานอนุกรรมการคัดเลือกเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม พ.ศ.2556 กล่าวว่า ภญ.ศิริพรจิตรประสิทธิศิริ เป็นเภสัชกรที่มีจิตสาธารณะสูง และทำงานทุ่มเทเพื่อสังคม ชุมชน และเภสัชกรรมมากว่า 23 ปี ในฐานะเภสัชกร รพ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ปี 2533-ปัจจุบัน

โดยมีการช่วยงานพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เช่น คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ฉะเชิงเทรา การแก้ปัญหายาในชุมชน ส่งเสริมให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ทำหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนคุณภาพงานในโรงพยาบาลชุมชน เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพ

และงานที่ท้าทายแสดงถึงความสุจริตก็คือ การเปิดโปงทุจริตการสั่งซื้อยา 1,400 ล้านบาท เมื่อปี 2540-2541 โดยยังคงยืนหยัดไม่เห็นด้วยกับการถูกหว่านล้อมให้คอร์รัปชันการซื้อยา ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ภญ.ศิริพร เป็นคนรักความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ครองตนอยู่ในสติเสมอมา มีความเสียสละ พัฒนาตน และเมื่อเผชิญปัญหาวิกฤตก็สามารถก้าวข้ามปัญหาอย่างมีสติได้ สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2556

ด้าน ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2556 กล่าวว่า เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ไม่น้อยไปกว่าวิชาชีพต่างๆในสุขภาพ ต่างกันเพียงภารกิจและความชำนาญการในแต่ละสาขา

ทั้งนี้ นับแต่ก้าวสู่วิชาชีพเภสัชกรเมื่อ 29 ปีที่แล้วตั้งแต่เป็นนิสิต ตนได้รับโอกาสและการหล่อหลอมที่ดีจากอาจารย์จุฬาฯ จากรุ่นพี่และเพื่อนที่มีอยู่ 5 สถาบันในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่วงการวิชาชีพเภสัชกร ก็ได้รับทราบและได้ยินเรื่องราวการทวงถามความซื่อสัตย์จากเภสัชกรด้วยกันเอง จากการรณรงค์ไม่แขวนป้ายในร้านยา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการขอร้องตลอดให้ช่วยแขวนป้ายในร้านยา แต่ก็ยืนยันที่จะไม่ช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ภาคภูมิใจในตัวเองที่ทำงานอยู่บนความสัตย์ซื่อ แม้แลกความทุกข์ เช่น ช่วงทุจริตการสั่งซื้อยา 1,400 ล้านบาท แต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย

“จากประสบการณ์ทำงานในหน้าที่รับผิดชอบของเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนคนหนึ่ง ขอประกาศชัดว่าหากมีความตั้งใจจริง และพยายามอย่างต่อเนื่อง เภสัชกรสามารถพิสูจน์บทบาทให้ประชาชนยอมรับได้ ทั้งงานเชิงรับในโรงพยาบาล และงานเชิงรุกคุ้มครองผู้บริโภคนอกโรงพยาบาล ซึ่งทำให้เราได้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมนุม โดยดิฉันเห็นว่ายังมีปัญหาของประชาชนอีกมากที่กำลังรอการแก้ไขและแก้ไขยาก ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของเภสัชกร”

นอกจากนี้ อยากให้เภสัชกรต้องคิดทบทวนเสมอ ทำงานเพื่อใคร ผลประโยชน์ของตนเอง ของวิชาชีพ หรือของประชาชนและสังคมโดยรวม ซึ่งในฐานะผู้ได้รับความไว้วางใจ ดิฉันจะเป็นเภสัชกรด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จะเคร่งครัดจรรยาบรรณ และใช้ความสามารถอย่างเต็มที่แก้ปัญหาสภาวะสังคมไทย

“กรณีใดที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและวิชาชีพที่ไม่ชัดแจ้งว่า เป็นประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมก็จะไม่ปวารณาตัวเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นเพื่อประโยชน์ประชาชนและสังคม แม้จะทำให้วิชาชีพและตัวเองเสียประโยชน์ไปบ้างก็จะดำเนินการต่อไปจนบรรลุผล ด้วยหลักการนี้จะช่วยยกระดับวิชาชีพเภสัชกรขึ้นไปได้” เภสัชกรดีเด่นฯ กล่าว

ภญ.ศิริพร กล่าวอีกว่า ขณะนี้แม้จะมีเภสัชกรออกมาทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาในชุมชน แต่ยังไม่มากพอ เพราะส่วนใหญ่ประชาชนยังมีทัศนคติว่าเจ็บป่วยเมื่อไรจะต้องใช้ยา ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ยาก็ได้ ซึ่งเภสัชกรมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยประเมินว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ ใช้แล้วเป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน

อีกเรื่องก็คือผลิตภัณฑ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเภสัชกรมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถประเมินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และสารเคมีในชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ จึงอยากให้ออกจากห้องยามาทำงานตรงนี้ ก็จะช่วยให้เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่ประชาชนยอมรับมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้ยาไม่เหมาะสมเรื่องใดที่เป็นปัญหาและต้องเร่งแก้ไข ภญ.ศิริพร กล่าวว่า การใช้ยาที่ถูกเพิกถอนเป็นอีกเรื่องที่น่าห่วง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีข่าวเรื่องญี่ปุ่น เพิกถอนยาเซอร์ราทิโอเปปทิเดส (Serratiopeptidase) มีชื่อ ทางการค้า แดนเซ็น (Danzen) ซึ่งเป็นยาลดบวม วงการแพทย์สั่งจ่ายยาตัวนี้ควบคู่กับยาปฏิชีวนะ เพราะช่วยเสริมประสิทธิภาพยาปฏิชีวนะได้

ทั้งนี้น่าห่วงตรงที่ว่าญี่ปุ่นเพิกถอนในประเทศตั้งแต่ปี 2554 เพราะมีผลวิจัยว่ายาดังกล่าวไม่ได้ผลในการรักษา แต่บริษัทเพิ่งมีการแจ้งในไทยเมื่อประมาณปลาย ธ.ค.2556 โดยไม่แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เท่ากับมีการปล่อยให้ใช้มานานถึง 2 ปี แม้จะไม่มีอันตรายจากการใช้ยา แต่ก็ถือว่าทำให้ประชาชนสิ้นเปลืองเงินในการซื้อยาดังกล่าว

“ความจริงแล้วตรงนี้ถือว่ามีความผิด แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเอาผิดเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่ง พ.ร.บ.ยาฉบับประชาชนที่มีการบรรจุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หากบริษัทยาทราบเจ้าของยาต้นฉบับทราบแล้วว่ายาไม่มีประสิทธิภาพและมีการเพิกถอนยา จะต้องแจ้ง อย.ไทยให้ทราบด้วย แต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังค้างอยู่ในสภา เนื่องจากมีการยุบสภาไปเสียก่อน”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 13 ม.ค.2557

ขอบคุณภาพจาก www.manager.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง