สมุนไพร (วัชพืช) ในที่รกร้าง

พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 คือกฏหมายที่คาดหวังให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีการเก็บภาษีนำมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ก่อผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือ เจ้าของที่ดินพยายามจะเปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าหรือรกร้างให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร เพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด จึงพบเห็นได้ทั่วไปที่เจ้าของที่ดินปรับพื้นที่อย่างง่ายที่สุด ให้กลายเป็นสวนกล้วย

ในเมืองไทยยังมีการศึกษาเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับจากพื้นที่ว่างเปล่าน้อยมาก ทำให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการไม่มีข้อมูลที่ดีประกอบการตัดสินใจ ไม่เหมือนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาและในอักฤษที่มีงานวิจัยในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เช่น การศึกษาคุณประโยชน์ของพื้นที่ว่างเปล่าในเมืองนิวยอร์ก พบว่าประโยชน์ของพื้นที่ว่างเปล่ามีหลายประการ เช่น ช่วยกรองน้ำให้สะอาด เป็นแหล่งอาหารของคนและสัตว์นานาชนิด ดูดซับมลพิษในอากาศ ลดความร้อนของเมือง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้อาชญากรรมลดลง ฯลฯ

แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งยังมีความเห็นว่าขัดแย้งกัน บางท่านเห็นว่าไม่สมควรปล่อยที่ให้รกร้างเพราะทำให้เกิดทัศนียภาพไม่สวยงาม ควรพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะหรือถ้าเป็นที่ส่วนบุคคลก็ควรปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนด์หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพที่ธรรมชาติจะจัดสรรตัวเอง มุมมองของนักวิชาการทั้ง 2 กลุ่ม ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด เนื่องจากใช้ข้อมูลพื้นฐานในการสนับสนุนการจัดการในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัย 1 ชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ว่างเปล่าที่ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติสามารถให้บริการทางด้านระบบนิเวศ เช่น ฟอกอากศ ดูดซับของเสีย ห่วงโซ่อาหาร ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าได้ถึง 15,945 บาท/ไร่ ในขณะที่ลองเปรียบเทียบกับพื้นที่ใช้อยู่อาศัยภายในเมืองจะมีมูลค่า 7,181 บาท/ไร่ และในพื้นที่อยู่อาศัยในเขตชานเมือง มีมูลค่า 4,684 บาท/ไร่ การศึกษาครั้งนี้จึงพอจะเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่า พื้นที่ว่างเปล่าก็มีประโยชน์ต่อโลกใบนี้ไม่ใช่น้อย

หากไม่ต้องดีเบตรู้แพ้ชนะ ลองชวนมามองให้ลึกชัดๆ ในพื้นที่ว่างเปล่า ทั้งที่เป็นของส่วนบุคคลหรือพื้นที่สาธารณะ ก็จะพบว่าพื้นที่รกๆ ร้างๆ นั่นเป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญพืชกลุ่มหนึ่งที่เรามักเรียกกันว่า “วัชพืช” ซึ่งในพจนานุกรมนิยามว่า วัชพืชหมายถึงพืชที่ไม่ต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะตัด ถอน ทำลายทิ้งห้สิ้นซากเพราะคิดว่าวัชพืชคือพืชที่ไร้ประโยชน์ แต่ถ้าเรามีความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ท้องถิ่น จะพบว่าพืชในพื้นที่ว่างเปล่าหรือที่รกร้างนับร้อยชนิดมีคุณค่าด้านสมุนไพรมากมาย เช่น

หญ้าแห้วหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus rotundus L. พบได้ทั่วไปในทุกภาค มักขึ้นตามข้างทุ่งนา สนามหญ้า และพื้นที่ว่างทั่วไป โดยจะพบขึ้นเป็นหย่อมๆ หรือกระจายเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากมีระบบรากเป็นเถาในดิน ในมุมมองของนักเกษตรจัดเป็นวัชพืชที่กำจัดยาก ในขณะที่ในตำรับยาไทยคือสมุนไพรที่นำมาเข้ายาได้หลายสิบตำรับ สรรพคุณ หัวรสซ่าออกไปทางร้อนเผ็ด เข้ายาหลายตำรับเพื่อขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนผิดปกติ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์รักษา (บำรุงทารกในครรภ์) เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้ไข้ เป็นยาฝาดสมาน สงบประสาท เป็นยาอายุวัฒนะ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน แก้โรคตับอักเสบ ในปัจจุบันการหาหัวแห้วหมูเพื่อปรุงยาได้ยากเต็มที และส่วนใหญ่ที่ได้มาก็มักมีการปนเปื้อนยาฆ่าหญ้า ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ปรุงยารักษาโรคได้

ผักเสี้ยน นักวิชาการเกษตรจัดว่าเป็นวัชพืช ที่ขึ้นตามพื้นที่ว่างเปล่าทั่วไป ผักเสี้ยนที่จัดเป็นวัชพืชนี้มีดีถึง 2 อย่าง คือ ผักเสี้ยนดอกขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cleome gynandra L. เอาไปดองเป็นส้มผักเสี้ยน กินเป็นอาหารอร่อยมาก ๆ อีกชนิดหนึ่งดอกสีเหลือง ชื่อสามัญ Polanisia Vicosa หรือ Wild Caia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cleome viscosa L. ใช้เป็นสมุนไพร เข้ายาหลายชนิด ส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนประกอบของลูกประคบ ในปัจจุบันผักเสี้ยนทั้ง 2 ชนิดหายากมากแล้ว

ผักลิ้นปี่หรือหางปลาช่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Emilia sonchifolia (L.) DC. จำได้ว่าเมื่อตอนเด็ก ๆ (50 ปี ก่อน) เมื่อมีอาการเจ็บคอแม่จะให้ไปเก็บผักชนิดนี้มาแกงจืดกิน อาการเจ็บคอมลายหายไป ในปัจจุบันก็หาได้ยากมากๆ

ยังมีพืชผักอีกหลายชนิดที่อาศัยพื้นที่ว่างเปล่าในการเจริญเติบโต เช่น ตำลึง กระทกรก ผักบุ้ง ไมยราบ ฯลฯ พืชเหล่านี้เป็นทั้งอาหารและสมุนไพรที่เราสามารถเก็บหาได้ตามที่เราเรียกว่าพื้นที่ว่างเปล่า ดังนั้นถ้าเรามีข้อมูลและการจัดการที่ดี พืชเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของมนุษย์และทำให้เกิดสมดุลของระบบนิเวศได้เป็นอย่างดีด้วย

ทุกวันนี้ความเป็นเมืองแผ่กินพื้นที่ชนบทมากขึ้น ที่ดินถูกจัดสรรและต้องนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น แต่น่าคิดมุมใหม่ ๆ ว่า เมืองที่เจริญต้องมีระบบนิเวศที่ดีไม่ใช่แค่มูลค่าที่ดินแพงและการนำไปใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น บางทีต้องเปลี่ยนทัศนะมุมมองของเรา พร้อมๆ กับเร่งศึกษาวิจัยพื้นที่ว่างเปล่ารกร้างที่อาจเป็นขุมทรัพย์ของมนุษย์และสรรพชีวิต อาจต้องปรับปรุงกฏหมายให้มีทางเลือกการปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่ารกร้าง แต่ประเมินมูลค่าด้านอื่นๆ ที่สำคัญต่อมนุษย์ เช่น เป็นแหล่งนิเวศวัฒนธรรมที่สมบูรณ์เพื่อทุกคน.