สำราญกาย สำราญใจ

หมอสำราญ มาฟู เป็นหมอเมืองอาศัยอยู่ที่ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ชำนาญด้านหมอย่ำขาง หมอตอกเส้น และหมอสมุนไพร

แรงดลใจ “เพราะใจรัก อยากช่วยเหลือชาวบ้าน และได้เห็นพ่อป็นหมอยา ได้ที่เป็นที่พึ่งในยามเจ็บป่วยของชาวบ้าน ได้เห็นเด็กเจ็บไข้ตอนกลางคืนไปโรงพยาบาลไม่ได้เนื่องจากอยู่ไกล หมอพื้นบ้านแบบพ่อเลยเป็นที่พึ่งของชุมชน ช่วยเหลือกันโดยไม่คำนึงถึงค่าตอบแทน และพอมีความรู้เกี่ยวกับอักษรธรรม อ่านตำรา ปั๊บสาได้ จึงนำความรู้มาใช้”

ความเป็นหมอ “คือ การปฏิบัติตัวของเราเอง และรักษาศีล รักษาข้อห้าม คือมีวิถีปฏิบัติที่เคร่งครัด ไม่หลอกลวงใคร หมอบางคนชอบอวดอ้าง ต้องไม่อวดอ้าง อวดโอ้เกินตัว รักษาหายจริงก็บอกจริง รักษาไม่ได้ก็บอก การอวดอ้างทำให้ความศรัทธาหาย และไม่ใช่หมอ”
ความห่วงใย “ไม่อยากให้ความรู้ของหมอเมืองสูญหายไปกับตัวหมอ อยากให้รีบส่งเสริมเรื่องการสืบทอดองค์ความรู้”

ประวัติพอสังเขป บิดาชื่อ นายพา มาฟู เป็นหมอพื้นบ้าน มารดาชื่อนางลัย มาฟู มีพี่น้อง 2 คน พ่อสำราญเป็นคนที่สอง เรียนจบ ป.4 แล้วบวรเรียน 4 พรรษา ระหว่างที่บวชเรียน 4 พรรษา ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรล้านนา จนชำนาญสามารถอ่านออกเขียนได้ ตอนอายุ 18 ปี ได้สาสิกขาบทมาอยู่กับพ่อ ได้สะพายย่ามตามหลังพ่อได้เดินทางไปรักษาคนเจ็บป่วย ได้เริ่มเรียนรู้การรักษา ตัวยาสมุนไพรและการเก็บยา ได้แต่งงานกับแม่สุขมีลูก 3คน

ปี 2536 เริ่มได้ใช้วิชาหมอที่ได้เรียนรู้มารักษาการปวดเมื่อยแข้งขา โดยการย่ำขางที่ร่ำเรียนมาจากพ่อ และเข้าชมรมหมอเมืองจังหวัดเชียงราย ได้ใบประกอบโรคศิลปะ และปริญญากิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และเป็นอาจารย์พิเศษของวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ได้รับแต่งตั้งเป็นพ่อหลวงบ้าน ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเครือข่ายรักษ์ม่อนยา และเป็นประธานชมรมหมอเมืองตำบลโรงช้าง

เรียบเรียงโดย พยอม ดีน้อย
กองทุนนายแพทย์ธาราอ่อนชมจันทร์ (ในมูลนิธิแพทย์ชนบท)

บทความที่เกี่ยวข้อง