สุคนธรส หอม อร่อย เครื่องสำอางและยาสมุนไพร

สุคนธรส เป็นพืชในสกุล กะทกรก (Passiflora) ทั่วโลกมีรายงานอยู่ 74 ชนิด แต่ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์มีเพียงไม่กี่ชนิด ที่รู้จักกันมาก เช่น กะทกรกฝรั่งหรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม เสาวรส หรือ แพชั่นฟรุ๊ต ซึ่งเวลานี้กลายเป็นพืชที่ปลูกเป็นการค้าแล้ว

กะทกรก ถือเป็นวัชพืชขึ้นตามที่รกร้าง แต่ก็นำมาใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพร สำหรับสุคนธรส เป็นพืชที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ โดยนำมาปลูกตามบ้านในไทยโดยเฉพาะหมู่บ้านทางภาคเหนือ จนหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไม้ดั้งเดิมของคนไทใหญ่ สุคนธรสเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในภาคกลาง มีชื่อพื้นเมืองว่า แตงสา เสาวรสยักษ์ กะทกรกยักษ์ แตงกะลา มะถั่วรส มะแตงสา หรือ แตงสา (ภาคกลาง และตะวันตก) มะละกอย่าน (ภาคใต้) มะถั่วรส หรือ มักซูรด (ภาคเหนือ) หมากซู่ลด (ภาคอีสาน) มีชื่อสามัญว่า Giant granadilla, Granadilla มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passiflora quadrangularis L. เป็นไม้เลื้อย มีมือเกาะ ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีปีกแคบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ โคนใบสอบหรือหยักเว้า ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมเขียว เจือสีแดง กลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงแดง รูปขอบขนาน มีรยางค์เป็นเส้น สีม่วงแดง ประขาว ปลายสีม่วงน้ำเงิน เกสรเพศผู้ 5-6 อัน ผลเป็นผลสด ขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร รูปทรงกระบอกแกมรี หรือรูปไข่ สีเขียวอ่อน เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่ มีขนาดผลใหญ่ที่สุดในบรรดาเสาวรสหรือกะทกรก ออกดอกช่วง พฤษภาคม – ตุลาคม การปลูกสุคนธรสชอบดินร่วน ระบายน้ำดี แสงแดดจัด น้ำปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ปัจจุบันมีการนำเข้าไปปลูกในหลายประเทศ พบได้ทั้งในอาฟริกา เอเชียและออสเตรเลีย

ผลของสุคนธรสกินได้ นำมาประกอบอาหาร เช่น ผัดใส่ไข่ ต้มจืด แกงเลียง หรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก ภายในผลดิบจะมีเมล็ดสีดำ ที่ถูกหุ้มด้วยรกสีขาว มีรสเปรี้ยว เช่นเดียวกับเสาวรส ชาวบ้านนิยมนำเมล็ดไปคลุกกับเกลือก่อนกิน เพื่อเพิ่มรสชาติ ผลสุกมีสีเหลือง ภายในผลจะมีรสชาติเหมือนกะทกรก แต่มีรสหวานหอมกว่า นอกจากนี้เปลือกผลยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้แช่อิ่ม หรืออบแห้งสำหรับกินเป็นขนมขบเคี้ยว ปัจจุบันมีการแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม จำหน่ายเป็นสินค้าระดับชุมชน

สำหรับเนื้อหุ้มเมล็ดหรือน้ำสุคนธรสอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 กรดโฟลิก ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็กธาตุแมกนีเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุสังกะสี และคาร์โบไฮเดรต และใยอาหารในปริมาณสูง ส่วนของรากนำมากินได้เหมือนมันพื้นบ้านทั่วไป แต่กินดิบไม่ได้เพราะมีพิษสูง มีการศึกษาความเป็นพิษพบว่า รากสดมีฤทธิ์ในทางเสพติด สามารถดับพิษนี้ได้ ด้วยการนำไปต้มรวมกับ Petiveria alliacea (เป็นสมุนไพรของทางอเมริกาใต้ ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย แต่มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาด)

สรรพคุณทางยาของสุคนธรส พบว่ารากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาทำให้อาเจียน และใช้เป็นยาขับพยาธิ แต่ต้องรู้จักการปรุงยาที่ดี เพราะรากมีสารทำให้เกิดอาการง่วงหรือใกล้หมดความรู้สึก ในรากยังพบสารแพสซิฟอรีน (passiflorine) ยาฆ่าพยาธิ (anthelmintic) ซึ่งทำให้เกิดอาการง่วง ซึม ผงที่ได้จากรากแห้งนำมาผสมกับน้ำมันใช้เป็นยาพอก หรือใบตากแห้งแล้วบดเป็นผงผสมน้ำมันใช้เป็นยาพอกได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังใช้ใบแก่รักษาโรคตับได้ด้วย ส่วนของผลใช้เป็นยารักษาเลือดออกตามไรฟันและอาการปวดท้อง เปลือกผลใช้เป็นยาระงับประสาท ลดอาการปวดหัว หอบหืด ท้องเสีย บิดมีตัว แก้อาการนอนไม่หลับ หากนำใบมาตากแห้งเป็นชาชงดื่ม แก้ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และลดไขมันในเส้นเลือด ใบอ่อนนำมาแช่กิน ใช้แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน

สารสกัดจากดอกใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง มีคุณสมบัติ เป็นสารทำให้สดชื่น ปกป้องผิว ทำให้ผิวนุ่มนวล สารสกัดจากผลก็ให้คุณสมบัติในการปกป้องผิวและทำให้ผิวมีความนุ่มนวลเช่นกัน ส่วนสารสกัดจากเปลือกผลใช้ในเครื่องสำอางเป็นครีมบำรุงผิว ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงผสมในเครื่องสำอางใช้เป็นตัวสมานผิว

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการรวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์เสาวรสชนิดต่างๆ พร้อมทำการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสุคนธรส เสาวรสสีม่วง และเสาวรสสีเหลือง ตลอดจนการนำไปฉายรังสีเพื่อให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยนำสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการผสมข้ามในแต่ละคู่ผสมและสายพันธุ์ที่ได้จากการฉายรังสีมาปลูกทดสอบการเจริญเติบโต เพื่อหาสายพันธุ์ที่สามารถพัฒนาเพื่อปลูกในเชิงการค้า ทั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลลักษณะพันธุ์และผลผลิตของสายพันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะดีและเด่น จำนวน 5 สายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงรี เปลือกผลบาง เนื้อหุ้มเมล็ดหนา และกลิ่นหอม ยังพบว่าสายพันธุ์ที่พัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการฉายรังสีลำต้น และใบจะมีความแข็งแรงเจริญเติบโตเร็ว ทนต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี

สุคนธรส หอมมีเสน่ห์เป็นพืชสมุนไพรน่าปลูกสำหรับผู้สนใจและเกษตรกร สามารถนำมาใช้เป็นอาหาร ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และปลูกเป็นไม้ประดับก็สวยงามด้วย.