สุ่มตรวจเจอ “ชีวพิษ” ในปลาเส้นโรยงา นมยูเอชที กาแฟผง

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สารชีวพิษ (Biotoxin) หมายถึง สารพิษที่เกิดในสิ่งมีชีวิต จัดเป็นอันตรายทางชีวภาพ (Biological hazard) ที่คุกคามต่อสุขภาพของคน แยกเป็น สารพิษจากสัตว์ พืช และจุลินทรีย์ ซึ่งการออกฤทธิ์มีทั้งที่เป็นพิษต่อระบบประสาท ระบบเลือด หรือแม้แต่ระดับเซลล์ อาจเกิดการทำลายลุกลามถึงระดับเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดเนื้อตายและปล่อยสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด การได้รับสารพิษมีหลายทาง เช่น การกิน การสูดดม สัตว์มีพิษต่อยและปล่อยสารพิษ หรือสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อม สารชีวพิษดังกล่าวหลายชนิดมีอันตรายรุนแรงและบางชนิดเคยมีการนำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ จึงมีการเฝ้าระวังการใช้สารชีวพิษอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการก่อการร้าย

นพ.อภิชัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังอันตรายจากสารชีวพิษในอาหาร โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ช่วงปี 2555 – 2558 ตรวจสารชีวพิษในอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ 1. ตรวจสารชีวพิษที่สร้างจากปลาปักเป้า โดยตรวจในเนื้อปลาและอาหารที่ทำจากปลา เช่น ปลาเส้น ลูกชิ้นปลา ปลาบด ปลาปรุงรส ปลาหวานเต้าหู้ปลา และข้าวเกรียบปลา จำนวน 301 ตัวอย่าง ตรวจพบ เทโทรโดท็อกซิน 19 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 6.3 ปริมาณที่พบระหว่าง 0.17 – 5.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนใหญ่ในปลาเส้นโรยงา ปลาหวาน เนื้อปลาแล่หรือบด ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ. 2545 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยให้ปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย แต่ยังไม่มีการกำหนดปริมาณเทโทรโดท็อกซิน ทั้งนี้ ระดับที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือ 2.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

นพ.อภิชัย กล่าวว่า 2. ตรวจสารพิษอฟลาท็อกซินที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งและมีความเป็นพิษต่อตับ โดยเก็บตัวอย่างถั่วลิสง ถั่วต่าง ๆ ธัญพืช เครื่องเทศ พริกแห้ง/พริกป่น ชา กาแฟ โกโก้ นม และข้าว จำนวน 2,389 ตัวอย่าง ตรวจพบอฟลาท็อกซิน 146 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 6.1 ในจำนวนนี้ พบในปริมาณที่เกินมาตรฐานกำหนด 31 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 1.3 พบมากในถั่วลิสง พริกแห้ง/พริกป่น และธัญพืช โดยเฉพาะถั่วลิสง พบเกินมาตรฐาน ร้อยละ 9 และปริมาณที่พบสูงสุดถึง 581.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตรวจสารพิษ อฟลาท็อกซิน ชนิด M1 ในนมโคทั้งที่เป็นนมผง นมพาสเจอร์ไรส์ และนมยูเอชที จำนวน 186 ตัวอย่าง ตรวจพบ 64 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 34.4 ซึ่งปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.01 – 1.11 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98) พ.ศ. 2529 กำหนดให้เปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนในนม มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex กำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.05 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม

นพ.อภิชัย กล่าวว่า 3. ตรวจสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A) เป็นสารชีวพิษที่สร้างจากเชื้อรา อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยตรวจในกาแฟผง กาแฟบรรจุในซอง (3 in 1) กาแฟคั่วที่บดแล้วและยังไม่ได้บด จำนวน 301 ตัวอย่าง ตรวจพบ 18 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 5.9 พบมากในกาแฟผง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.50 – 9.82 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานกำหนด ส่วน Codex กำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ในธัญพืชและผลิตภัณฑ์ และ 4. ตรวจสารพิษดีออกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol) เก็บตัวอย่างข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าว ข้าวโอ๊ต และข้าวสาลี แป้งต่าง ๆ เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวโพด อาหารและขนมที่ทำจากแป้ง เช่น ขนมปัง ขนมปังกรอบ มะกะโรนี เส้นบะหมี่สำเร็จรูป เส้นก๋วยเตี๋ยว และเส้นอูด้ง จำนวน 569 ตัวอย่าง ตรวจพบ 53 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 9.3 ปริมาณที่ตรวจพบระหว่าง 0.06 – 1.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดย Codex กำหนดให้ปนเปื้อนในธัญพืช ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และแป้ง ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยสารชีวพิษ บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคมีความเสี่ยงจากสารชีวพิษต่ำ แต่เพื่อความปลอดภัย และเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค ควรเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่ไม่มีเชื้อราขึ้น ไม่ซื้ออาหารมาเก็บไว้เป็นเวลานาน แต่หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารไว้รับประทานนาน ๆ ควรเก็บไว้ในตู้เย็น หรือในสภาพที่มีความชื้นต่ำ และไม่ควรบริโภคอาหารชนิดเดียวกันเป็นเวลานาน ๆ ที่สำคัญคือ หากเกิดอาการผิดปกติหลังจากรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มควรไปพบแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบว่ารับประทานอะไรมา โดยเก็บอาหารที่เหลือจากการรับประทานไปด้วย” นพ.อภิชัย กล่าว

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ส.ค.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง