5 แนวทางเป็นพ่อที่ดีของลูก

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเลี้ยงดูลูกของพ่อส่งผลต่อการพัฒนาของลูกอย่างมาก แต่พ่อมักถูกวางบทบาทให้เป็นผู้นำหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนแม่คือคนที่เลี้ยงดูลูก ซึ่งจริงๆ แล้วการทำกิจกรรมของพ่อร่วมกันกับลูกตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมวัยทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถผ่านพ้นและแก้ปัญหาแต่ละช่วงวัยได้เหมาะสม เนื่องจากลูกอายุ 1 – 3 ขวบ ถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญในด้านความรัก ความอบอุ่น ขณะที่ช่วง 3 – 5 ขวบ เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ พ่อจึงเป็นแบบอย่างสำหรับลูกในการพัฒนาเติบโตสู่ช่วงวัยรุ่น การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อ ที่เป็นได้ทั้งพ่อและเพื่อนให้กับลูก ย่อมทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจ เมื่อมีปัญหาก็จะมาปรึกษา ความรัก ความผูกพันในครอบครัวจึงเป็นรากฐานสำคัญของความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและความรู้สึกมีคุณค่าในเด็ก ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า พ่อ คือ ต้นแบบในการแสดงความเป็นเพศชายในลูกชาย และเป็นต้นแบบให้ลูกสาวเรียนรู้จากพ่อในการปรับตัวเข้ากับเพศตรงข้ามได้ดี

“ความรักความผูกพันที่ดีของพ่อจะส่งผลต่อลูกสาวและลูกชาย โดยจะส่งผลให้ลูกสาวมีสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาสูง รู้สึกดีต่อตนเอง รู้จักยืนหยัดโดยไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว รู้สึกมั่นใจในความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเพศตรงข้าม มีความมั่นใจในตนเองและมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต ส่วนลูกชายจะส่งผลให้พวกเขา รู้จักบทบาทหน้าที่ที่พึงกระทำในครอบครัว มีภาวะผู้นำที่ดี สร้างวินัยและปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นในสังคมได้ดี มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีความเข้าใจในเรื่องเพศที่ดี วางตัวเหมาะสม มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีความมั่นใจในตนเอง มีความกล้าหาญในการช่วยเหลือผู้อื่นและทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า แนวทางการเป็นแบบอย่างของพ่อให้กับลูก ได้แก่ 1. มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก 2. สอนสิ่งใหม่ๆ ให้กับลูก เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เช่น ทักษะการกีฬา ขี่จักรยาน ล้างรถ ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมของใช้ เป็นต้น 3. สอนการบ้านและใช้เวลาใกล้ชิดลูก สอนให้ลูกรู้จักการคิดแก้ปัญหาโจทย์ สร้างบรรยากาศในการทำการบ้านให้มีความสุข ฟังความทุกข์ใจของลูก ปรับบทบาทให้เป็นเพื่อนกับลูก ชื่นชมเมื่อลูกคิดหรือทำงานได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจให้กับลูก เมื่อเติบโตขึ้นจะทำเป็นคนมองโลกในแง่ดี รู้จักคิดแก้ปัญหาในชีวิตได้ดี 4. ให้เวลาสนุกสนานกับลูก ทำกิจกรรมร่วมกัน แบ่งปันความสนุกสนานซึ่งกันและกัน หรือการทำกิจกรรมที่ท้าทายร่วมกัน เช่น การปีนต้นไม้ เดินป่า นอนเต็นท์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความกล้าในการแสดงออก กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเติบใหญ่ได้ดี และ 5. เป็นแบบอย่างของความกตัญญู พาลูกไปเยี่ยมและดูแลญาติผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย เป็นประจำ และดูแลเมื่อยามเจ็บไข้ รวมถึงการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของการรู้จักตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณคนอื่นๆ ซึ่งการทำตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นย่อมเป็นการสอนที่ดีกว่าการใช้คำพูด

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 ธ.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

สร้างของเล่นพัฒนาเด็กพิการ‬

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

การเล่นเป็นกระบวนการการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา แ […]

ใช้ “นิทาน” ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คณะทำงานโครงการนิทานสร้างได้ ก […]

ห้ามใช้ “มือถือ-แอปฯ” เลี้ยงลูกต่ำกว่า 3 ขวบ สมองไม่จัดลำดับเรียนรู้

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

พญ.พรรณพิมล วิปุรากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจ […]