อนาคตเกษตรกรรมไทยในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปร

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวปาฐกถา “อนาคตของภาคเกษตรกรรมไทยในสถานการณ์สากล” ใน “งานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน: เปลี่ยนเกษตรกรรม…สู่ความยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 29-30 ส.ค.56 ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม จัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิชีววิถี ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และ แผนงานส่งเสริมการพัฒนาระบบเพื่อสุขภาวะของเกษตรกรและความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม

ดร.อัมมาร กล่าวเน้นประเด็นหลักซึ่งเป็นข้อสังเกตต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรในปัจจุบัน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 ปัจจุบันเกษตรกรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการวิจัยในประเด็นเรื่อง จำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่ทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แยกตามอายุ ระบุว่า ประชากรที่มีอายุในช่วง 25-34 ปี เป็นช่วงวัยที่หันหน้าออกจากภาคเกษตรมากที่สุด คนในวัยกลางคนที่มีอาชีพทำเกษตรต้องหารายได้เสริม เพราะอาชีพทำนาไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงคนในทั้งครอบครัว

ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า คนทำนายกเว้นชาวนาภาคกลาง มีรายได้ที่มาจากการทำนาต่ำกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว แต่ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้กลับยังบอกว่าตัวเองเป็นชาวนา ดังนั้น ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลทำนา กลุ่มคนวัยกลางคนเหล่านี้จะมุ่งหารายได้เสริมจากการประกอบอาชีพอื่นซึ่งมีหลากหลายมาก แต่พอถึงฤดูกาลทำนากลุ่มคนเหล่านี้จะต้องกลับมาทำนา แต่นี่ก็เป็นเพียงภาพในอดีต ซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เนื่องจากว่า หลังจากที่กลุ่มคนเหล่านี้ออกจากชุมชนเพื่อไปหารายได้เสริม เขาก็ไม่อยากกลับมาทำนาอีกเลย ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่า ในปัจจุบันคนทำนาคือกลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งมักทำนาด้วยระบบการจ้างทำนา

ประเด็นที่ 2 ระบบเกษตร (รายย่อย) ในปัจจุบันมองได้ 2 ด้าน คือ ด้านที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติ ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นว่าในแต่แต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีสภาพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความแห้งแล้วและร้อน แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนก็สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม และอีกด้าน คือ ด้านที่ต้องร่วมมือกับธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ธรรมชาติหันกลับมาทำความรุนแรงหรือกลับมาทำลายเรา

ดร.อัมมาร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า หลายอาชีพในปัจจุบันได้แยกตัวเราออกมาจากธรรมชาติ ยกตัวอย่างเรื่องการทำฟาร์มเลี้ยงไก่จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลี้ยงที่ฝืนธรรมชาติ เมื่อฝืนธรรมชาติมากๆ ก็ทำให้โลกป่วย เมื่อโลกป่วยธรรมชาติก็ต้องแก้แค้นเรา แต่เกษตรกรรมยั่งยืนที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบเกษตรกรรมที่ปกป้องโลก ปกป้องตลาดโลก

ดังนั้น สิ่งที่งานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืนกำลังทำอยู่ใน 2-3 วันที่จัดงานอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะ “ในความเป็นจริงแล้วเราปฏิเสธตลาดโลกไม่ได้ หรือหากจะปฏิเสธ เราก็ต้องมีทางออก”

ที่มา : ข่าวและภาพประกอบ ประชาไทออนไลน์ 29 ส.ค.56

บทความที่เกี่ยวข้อง