เสนอรัฐยกเครื่องระบบพยากรณ์อากาศเพื่อความมั่นคงอาหารในภาวะโลกร้อน

กรุงเทพ/ เกษตรกร นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเตรียมการรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเริ่มจากการยกเครื่องระบบการพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว และสอดคล้องเอื้ออำนวยต่อการปรับตัวและเอาตัวรอดจากผลกระทบโลกร้อนซึ่งกำลังส่งผลต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเกษตรหัวใจหลักของประเทศ

แม้ว่าการรับมือวิกฤตโลกร้อนต้องอาศัยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านวิสัยทัศน์ นโยบาย และการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนเนื่องจากมีผลกระทบในวงกว้างและเกี่ยวเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศระยะยาวก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานรัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนที่สุดเพราะเป็นตัวแปรหลักต่อความสำเร็จของงานในระยะยาว

ข้อเรียกร้องนี้เป็นผลสรุปจากการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางนโยบายด้านการปรับตัวต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรรายย่อย” ซึ่งจัดโดย องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อตกลงกันยื่นข้อเสนอแนะต่อทิศทางการดำเนินการของรัฐบาลไทยเรื่องการปรับตัวและรับมือกับภาวะโลกร้อนในภาคเกษตร มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 80 คน จากทุกภาคส่วน

นางสาวสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะประเทศเกษตรกรรม เรามีพื้นที่การเกษตรกว่าครึ่งที่พึ่งพาน้ำฝน ดังนั้นข้อมูลพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนั่นหมายถึงความเป็นความตายของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตต่อปีสามารถดึงให้เกษตรกรพ้นหนี้หรือฉุดให้จมหนี้ได้ เราจึงต้องมีข้อมูลสถิติและการพยากรณ์ที่แม่นยำ ช่วยประกอบการวางแผนปลูกและดูแลพืชไปตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ควรปลูก เวลาที่ควรให้น้ำ หรือเวลาตากข้าว การพยากรณ์ที่แม่นยำจะช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าวได้ ไม่ต้องหว่านกล้าแล้วเสียหาย หรือวิดน้ำเข้านาโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ข้อมูลสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ปัจจุบันระดับความแม่นยำของคำพยากรณ์อยู่ 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป้าหมายของกรมคือ 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยของการทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็คือข้อมูลการตรวจอากาศมีเพียงพอและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคคลากรของกรมฯ นั้น ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด “การทำงานที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลมีความตระหนักรู้น้อยมากถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญ ในภาวะปกติที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เราก็ไม่ใช่ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้เป็นเพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ชีวิตพึ่งพาผลผลิตรายปี ถ้าข้อมูลที่เป็นพื้นฐานในการวางแผนและประมวลผลด้านภูมิอากาศไม่สมบูรณ์ คงเป็นการยากที่เราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้ สุดท้าย การจัดการและรับมือที่ไร้ประสิทธิภาพจะกระทบกับความเป็นอยู่ของคนไทย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” นางสุนทรี กล่าว

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าว “การแก้ปัญหาไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย…ผลผลิตของเราคือคำพยากรณ์ เป็นบริการของเรา จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ได้มาจากสถานีตรวจวัดที่ต้องมีเพียงพอและครบทุกจังหวัด ถ้ามีไม่เพียงพอได้ข้อมูลกระท่อนกระแท่น การประเมินผลก็จะไม่เที่ยงตรง และต้องมีระบบการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพสูง หากไม่มีผลที่ได้ก็ไม่แม่นยำ และไม่สามารถให้รายละเอียดเชิงพื้นที่ถึงระดับตำบลได้เท่าที่ควร”

ปัจจุบัน มีหลายกลุ่มที่เข้ามาขอใช้ข้อมูลพยากรณ์อย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มประมง การบิน ธกส กลุ่มน้ำตาล สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาหากมีการรวมกลุ่มกันมาขอใช้บริการ ทางกรมอุตุฯ ก็พร้อมให้บริการเช่นกัน

ด้านสถานการณ์ระดับโลก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ทะลุ 400 พีพีเอ็ม (PPM – parts per million) แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งไว้สูงสุดโดยอิงความสามารถในการปรับตัวของโลก และผลกระทบที่มนุษย์ยังพอรับมือได้ อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ปลอดภัยที่สุดคือ 350 พีพีเอ็ม แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นที่ยอมรับโดยสากล การประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่ผ่านมาทุกปีกลับประสบความล้มเหลว ไม่สามารถหาข้อตกลงและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลงตัวของประเทศมหาอำนาจ และประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่กระทบต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบที่ทั่วโลกจะเจอคือภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือจำนวนครั้งอาจจะลดลง แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น สิ่งที่นานาชาติเป็นห่วงอย่างมากคือ ความมั่นคงทางอาหารจากผลผลิตการเกษตรที่ลดลง โดยเฉพาะพืชอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ถั่วต่างๆ ซึ่งพืชเหล่านี้หลายอย่างก็เป็นพืชพลังงาน และมีพื้นที่การปลูกที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าข้าวอย่างมากคือร้อยละ 34 ต่อร้อยละ 12 นั่นหมายถึงจะมีอาหารไว้เลี้ยงคนน้อยลงเพราะในปัจจุบันพืชพลังงานราคาดีกว่า

ดร.เดชรัตน์ ชี้ว่า แม้ว่าอากาศที่อบอุ่นขึ้นจะทำให้ผลผลิตการเกษตรในประเทศเมืองหนาวเพิ่มตามไปด้วย นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าความเสียหายจากการล่มสลายของระบบนิเวศน์ที่ส่งผลให้อากาศและฤดูกาลแปรปรวนมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นหลายเท่า และยังไม่นับรวมมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติอีกด้วย

ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เห็นด้วยกับแผนงาน 3 ด้านของกรมอุตุฯ คือ การมีเครื่องมือพยากรณ์ให้ได้ระดับตำบล การให้บริการข้อมูลภาพรวมเป็นฤดูกาล นอกจากข้อมูลรายวัน และการคาดการณ์ระยะยาวเพราะรัฐเองก็ต้องการทราบเพื่อการวางแผนเกษตรในอนาคต โดยเห็นพ้องว่าภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพยากรณ์อากาศมากกว่านี้.

บทความที่เกี่ยวข้อง