“อ้อย” คลายร้อน เป็นยา..ก็ดี (จบ)

ใครที่เริ่มร้อนจากอากาศ และลามไปสู่อาการที่เรียกว่า ร้อนใน ปากเปื่อย ให้หาอ้อยแดง
หากหาไม่ได้ก็ใช้อ้อยธรรมดา ให้ตัดอ้อยยาวเท่านิ้วชี้ของตนเอง จำนวน 3 ท่อน แต่ละท่อนผ่าออกเป็น 4 ส่วน แต่เอาไว้ใช้ 3 ทิ้งไป 1 แอดมินก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทิ้ง แต่คิดว่า จำกัดปริมาณยา แล้วนำไปแช่น้ำ 3 แก้ว เติมข้าวสารเจ้าลงไปหยิบมือหนึ่ง แช่นาน 30 นาที กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 วัน อาการร้อนใน ปากเปื่อย จะทุเลาลงจนหายขาด

และสรรพคุณอ้อยตามคัมภีร์โบราณว่า
“น้ำอ้อยสดมีรสหวานและเย็น กินปัสสาวะออกมาก เจริญอายุ ให้มีกำลัง แก้ไข้กำเดาและลม กระจายเสมหะ ผายธาตุ น้ำอ้อยต้มและอ้อยเผา มีรสหวานยิ่งกินแก้เสมหะ หืดไอ แก้ไข้สัมประชวร”

อธิบายได้ว่า น้ำอ้อยสดใช้บำรุงกำลังแล้ว ยังเหมาะมากกับฤดูร้อน ที่เรียกว่าไข้กำเดาและลม คือไข้หวัดตัวร้อน อากาศแบบนี้

ใครที่กำลังเป็นไข้ฤดูร้อนก็ขอแนะนำ คั้นน้ำอ้อยสด กินครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 3- 4 ครั้ง ติดต่อกัน สัก 2-3 วัน จะช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายได้ดี

นอกจากนี้ ภูมิปัญญาชาวจีนจะกินน้ำอ้อยคั้น ซึ่งให้รสหวานชุ่มและเย็น ในการแก้ร้อนใน บำรุงกระเพาะ ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ คอแห้ง และยังกล่าวถึงการแก้อาการร้อนรุ่มกลุ้มใจ คลื่นไส้อาเจียน และท้องผูกด้วย

น้ำอ้อยคั้นสดจึงเหมาะมากสำหรับอากาศร้อน ๆ หากได้น้ำคั้นอ้อยสดแช่เย็นหรือใส่น้ำแข็งสักแก้ว ในยามบ่าย จะช่วยให้หายอ่อนเพลียและแก้ร้อนในด้วย

ถ้ามีเวลาทำเองได้ แอดมินแนะนำให้ปรับแต่งสูตรตามตำรายาโบราณ คือ ก่อนจะคั้นน้ำกิน ให้นำลำอ้อยไปเผาไฟจนมีน้ำไหลออกมาก่อน แล้วค่อยคั้นน้ำกิน จะได้น้ำอ้อยหอมอร่อยมาก

แต่ก็มีบางคนนำน้ำอ้อยสดๆ ที่คั้นเสร็จแล้วค่อยนำไปตั้งไฟให้ร้อน ๆ ก็จะมีกลิ่นหอมและรสหวานอร่อยเช่นกัน

แต่ในอากาศร้อน ๆแบบนี้ คงไม่มีใครอยากกินน้ำอ้อยอุ่นกันแน่ๆ แอดมินแนะนำให้ใส่น้ำแข็งกินให้ชื่นใจ
หรือบีบน้ำมะนาวลงไปในน้ำอ้อย เพื่อตัดรสหวานของอ้อยลงเล็กน้อย ก็ทำให้น้ำอ้อยรสชาติกลมกล่อมขึ้นด้วย และได้รสเปรี้ยวมาช่วยคลายร้อนได้เช่นกัน

แต่ถ้าจะให้ดีต่อสุขภาพมากๆ อยากให้หาอ้อยที่ปลูกแบบอินทรีย์มาคั้นกิน ปลอดภัยจากสารเคมีและสนับสนุนอ้อยจากการปลูกแบบอินทรีย์ จากเกษตรกรขนาดเล็กด้วย

“น้ำอ้อย 1 แก้ว” เป็นน้ำสมุนไพรคลายร้อน เป็นยาสมุนไพรก็ดี
และแอดมินอยากจะให้หลีกเลี่ยงอ้อยที่ปลูกแบบที่ใช้สารเคมี เพราะเราจะได้รับสารเคมีจากอ้อยนั้นด้วย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเต็มๆ

#มูลนิธิสุขภาพไทย #น้ำสมุนไพร #น้ำอ้อย
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.