ฮือฮา..แมลงไทย-อาวุธลับ ช่วยกอบกู้ “โลก” !!!

ฮือฮากันไม่ใช่เล่น เมื่อ โซเซ่ กราเซียโน่ ซิลวา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงทางอาหารประเทศบราซิล ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกมาระบุว่า อาวุธลับที่ช่วยให้ประชากรโลกหลุดพ้นจากภาวะอดอยากและขาดอาหาร ก็คือ แมลง

เขาได้ยกตัวอย่าง ยำไข่มดแดง สุดยอดเมนูแมลงของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากว่าเป็นอาหารทรงคุณค่า ที่อาจจะช่วยกู้สถานการณ์ให้ประชากรโลกรอดพ้นจากภาวะอดอยากได้

แมลงเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากที่สุดในโลก คือ มีอยู่มากกว่า 800,000 ชนิด มีวิวัฒนาการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในแหล่งอาศัยต่างๆ ด้วยเหตุนี้แมลงจึง สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว การนำแมลงมาประกอบเป็นอาหารได้กระทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณในหมู่ชนพื้นเมือง ของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ออกเตรเลีย และอเมริกา โดยมีวิธีการประกอบเป็นอาหารต่างๆกัน

ในประเทศไทยชาวบ้านในแถบชนบทนิยมนำแมลงมากินเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

อ.องุ่น ลิ่ววานิช นักกีฏวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงบอกว่า การที่ทราบว่าแมลงชนิดใดกินได้หรือไม่นั้น เป็นความรู้สืบทอดต่อๆกันมา แมลงที่กินได้บางชนิดพบมีอยู่เฉพาะที่ จึงรู้จักกินกันเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ แต่บางชนิดมีอยู่ทั่วๆไปในประเทศจึงรู้จักกินกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทย และบางครั้งสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด

แมลงกินได้ที่พบในประเทศไทยเท่าที่สำรวจได้มีมากกว่า 50 ชนิด ในการนำแมลงมาประกอบเป็นอาหารนั้น ถ้าเป็นแมลงตัวโตควรเด็ดเอาส่วนแข็งออกก่อน เช่น หัว ขา และปีก อ.องุ่น บอกว่า หลักการกินแมลงที่สำคัญมากก็คือ ต้องไม่จับแมลงในแหล่งที่มีการพ่นสารฆ่าแมลงมากินเป็นอันขาด ไม่งั้นจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แมลงที่กินได้และนิยมปรุงเป็นเมนู ชวนน้ำลายไหล และเป็นที่ติดใจทั้งคนพื้นถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างถิ่นไปจนถึงต่างประเทศ นั้น เช่น แมลงกินูน หรือแมลงอินูน เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง นิยมนำไป คั่ว ทอด นึ่ง หรือแกง

แมลงกุดจี่ หรือแมลงขี้ครอก หรือด้วงขี้ควาย แมลงพวกนี้อาศัยอยู่ตามกองมูลสัตว์หรือในดินใต้กองมูลสัตว์ เมื่อได้ตัวแมลงชนิดนี้มาแล้วต้องใส่ถังตั้งทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อให้แมลงถ่ายสิ่งสกปรกออกแล้วนำไปแช่น้ำล้างให้สะอาด รับประทานได้เช่นเดียวกับแมลงกินูน

ด้วงแรดหรือด้วงมะพร้าว กินยอดมะพร้าว บางครั้งบินมาเล่นแสงไฟ ประกอบอาหารได้ โดยนำมา ปิ้ง คั่ว ทอด หรือแกง

ตั๊กแตน ปาทังก้า ตั๊กแตนเล็ก หรือตั๊กแตนข้าว เป็นศัตรูสำคัญของพืชหลายชนิดใช้เป็นอาหารโดยนำมาคั่ว ปิ้ง ทำทอดมันและที่นิยมมากคือนำมาทอดกรอบ

แมลงเม่าเป็นปลวกที่มีปีก บินออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์ จับได้โดยใช้ถุงตาข่ายครอบไว้ที่ปากรังหรือจอมปลวกขณะที่มันบินออก หรือใช้แสงไฟล่อ โดยตั้งภาชนะใส่น้ำไว้ใต้หลอดไฟ แมลงเม่าเมื่อตกลงไปในน้ำแล้วไม่สามารถบินขึ้นมาได้ ในการรับประทานนำมาคั่วและใส่เกลือเล็กน้อย

มดแดง มดนาง มดเป้ง ไข่มดแดง มดแดงทำรังบนต้นไม้ โดยห่อใบให้ติดกัน ภายในรังมดแดงมีมดที่มีลักษณะแตกต่างกันหลายแบบที่เห็นทั่วๆ ไป มีตัวสีแดง คือ มดงาน

ตัวอ่อนและดักแด้ของมดงานมีขนาดเล็กสีขาว ชาวบ้านเรียกว่า ไข่มดแดง ส่วนราชินีมดแดง ตัวโตสีเขียว มีปีกเรียกว่า มดนาง ตัวอ่อนและดักแด้ของมดนางมีขนาดใหญ่สีขาว เรียกว่า มดเป้ง

มดแดง และมดนาง ใช้ผสมยำอื่นๆ แทนมะนาว เพราะมีรสเปรี้ยวจากกรดฟอร์มิก ส่วนมดเป้งและไข่มดแดงนำมาหมก ยำ แกงป่า ทำลาบ หรือใส่ไข่ทอดรับประทานได้

ผึ้ง นอกจากน้ำผึ้งแล้ว ตัวอ่อนผึ้งยังนำมารับประทานได้ โดยนำรังผึ้งที่มีตัวอ่อนไปปิ้ง หรือเคี้ยวรับประทานสด เฉพาะตัวอ่อนนำไป คั่ว ทอด หรือแกงได้

ต่อ แตน ตัวอ่อนของต่อ แตน รับประทานได้โดยนำไป คั่ว ทอด แกง หรือชุบไข่ทอด

ดักแด้ไหม เมื่อต้มสาวเส้นไหมออกแล้ว ตัวดักแด้ที่อยู่ข้างในปลอกหุ้มนำมารับประทานได้โดยนำมานึ่ง คั่ว ทอด แกง หรือป่นใส่น้ำพริก

หนอนไผ่ หรือตัวแน่ หรือรถไฟ เป็นหนอนผีเสื้อกินเยื่อไผ่ในกระบอกไม้ไผ่ พบทางภาคเหนือในช่วงฤดูฝน รับประทานได้โดยนำมาคั่ว หรือทอด เป็นที่นิยมมาก หาซื้อหนอนไผ่นี้ได้ตามท้องตลาด หรือสามารถสั่งซื้อหนอนไผ่ทอดกรอบได้ตามภัตตาคารบางแห่งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่

ตัวจรวดหรือเครื่องบิน เป็นผีเสื้อกลางคืนลำตัวอ้วน ปลายท้องแหลม ลักษณะคล้ายจรวดหรือเครื่องบิน มีหลายชนิด ชอบบินมาเล่นแสงไฟ นิยมรับประทานโดยเด็ดปีกแช่น้ำล้างขนออกให้หมด แล้วนำมาคั่ว ทอดหรือปิ้ง จักจั่น เรไร พบตามต้นไม้ ตัวผู้มีอวัยวะทำเสียงดังได้ เรไรมีลักษณะเหมือนจักจั่น แต่มีขนาดใหญ่กว่า ทั้งจักจั่นและเรไร รับประทานได้ โดย คั่ว ทอด ปิ้ง ทำลาบ แกง หรือตำเป็นน้ำพริก

แมลงดานา อยู่ในนาตามนาข้าว หนอง บึง ชอบบินมาเล่นแสงไฟ จับโดยใช้แสงไฟล่อ โดยเฉพาะไฟสีน้ำเงิน ตัวผู้มีกลิ่นฉุน นำมาตำเป็นน้ำพริก น้ำแจ่ว หรือดองน้ำปลารับประทาน ตัวเมียไม่มีกลิ่นรับประทานได้ โดยนำมาปิ้ง ทอดหรือยัดไส้หมูสับ แล้วนึ่ง หรือทอด ฯลฯ

อ.องุ่นมองว่า จากการศึกษาคุณค่าทางอาหารของแมลงในประเทศไทย และได้วิเคราะห์แมลง 13 ชนิด คือ แมลงกระชอน แมลงกินูน แมลงกุดจี่ จิโปม จิ้งหรีด แมลงดานา ดักแด้ไหม ตั๊กแตนเล็ก ตั๊กแตนใหญ่ แมลงตับเต่า มดแดง มดเป้ง และไข่มดแดง พบว่ามีโปรตีนมาก โดยเฉพาะแมลงตับเต่า ตั๊กแตนเล็ก และแมลงดานา อ.องุ่นขยายความว่า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโปรตีนและไขมันระหว่างแมลงกับเนื้อสัตว์ไม่แตกต่างกันมากนัก

ในขณะที่เนื้อสัตว์มีราคาแพงขึ้น แมลงอาจเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญได้ในอนาคต เนื่องจากหาเองได้ง่าย และสามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว

โดยทั่วไปแมลงยังสะอาดกว่าสัตว์ชนิดอื่น และในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าคนไทยทั่วๆ ไปไม่เฉพาะแต่ที่อยู่ตามชนบทเท่านั้นนิยมรับประทานแมลงมากขึ้น เมนูแมลงกำลังจะกลายเป็นอาหารโกอินเตอร์ กอบกู้สถานการณ์ความหิวโหยแก่ประชากรโลกอีกด้วย

ที่มา : หน้า 9 มติชนรายวัน 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทความที่เกี่ยวข้อง