ห่วงเจรจาเอฟทีเออียูประเด็นการผูกขาดข้อมูลทางยา

26 พ.ค.56/กรุงเทพฯ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ครั้งแรกที่จะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 27 นี้ ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม นั้นจะต่างจากการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมาๆ เพราะฝ่ายไทยต้องการเจรจาอย่างรวบรัดเพื่อให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี เพื่อต้องการให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ จีเอสพีให้กับบางสินค้าส่งออก ดังนั้น ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมักจะเสนอช่วยกลางของการเจรจา จึงถูกหยิบยกขึ้นมาในการเจรจารอบแรกนี้ ความน่าห่วงใยอยู่ที่ กระทรวงพาณิชย์พยายามจำกัดบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก แม้จะให้ดูเนื้อหาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ก็จริง แต่โดยเนื้อแท้ดูเฉพาะข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการขยายอายุสิทธิบัตรผูกขาดอันเนื่องจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา และหัวข้อการผูกขาดข้อมูลทางยา (Protection of Pharmaceutical Data Submitted to Obtain a Marketing Authorization) เท่านั้น

ทั้งนี้ 2 ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของสหภาพยุโรป เพราะอียูได้ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าวกับอินเดียไปแล้ว คือถ้าฝ่ายไทยไหวตัวไม่ทัน ยอมตามข้อเรียกร้องนี้ เขาก็กำไรไป แต่ความมุ่งหมายจริงอยู่ที่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้นในหมวดย่อยการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Enforcement of Intellectual Property Rights) รวมทั้งมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measures) ซึ่งสหภาพยุโรปต้องการให้มีการยึดจับยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจนำไปสู่การยึดจับยาชื่อสามัญ และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญด้วยการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ต้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แล้วเสนอเนื้อหาที่สร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ทรงสิทธิและสร้างความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา

“ตัวอย่างข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป จะขยายการยึดจับอายัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือ เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ให้รวมไปถึงสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิบัตร ทั้งที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ แม้คดีขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินฯก็ยังใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี และยังเรียกร้องให้สามารถร้องต่อศาลให้ยึดจับและระงับโดยแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอ, ไม่วางเงินประกัน, ไม่ฟังคำชี้แจงอีกฝ่ายหนึ่ง, ไม่กำหนดระยะเวลาการยึด, ให้ระงับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ถูกกล่าวหานั้น เช่นการขนส่ง การจัดหาวัตถุดิบ, ให้ยึดจับแม้อาจยังไม่ได้ละเมิด ฯลฯ ซึ่งนี่จะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อเข้าข้างผู้ทรงสิทธิจนละเมิดสิทธิผู้อื่น”

ผู้ประสานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ยังเปิดเผยว่า สหภาพยุโรปแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะยกเลิกสิทธิบางประการของหน่วยราชการในการจัดหาจัดหายาจำเป็นที่มีคุณภาพ มาตรการด้านราคาและการเบิกจ่ายค่ายา ตลอดจนการเข้าถึงยาเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการเจรจาหัวข้อ Government Procurementและยังมีความต้องการกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement) ครอบคลุมยาและเวชภัณฑ์ด้วย

“น่าวิตกมาก เพราะเนื้อหาใหญ่ๆและต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านในการจัดระบบยาและเวชภัณฑ์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ อ.ย. ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเจรจา แต่กลับตกอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตให้ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ด้วย”

ทางด้านนายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวถึงการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขประเด็นอ่อนไหว/ปัญหาอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. มีการประชุมวางกรอบการทำงานไปแค่ครั้งเดียวเท่านั้น “จากเดิมตกลงกันว่า จะประชุมทุก 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ประชุมไปได้แค่เพียง 1 ครั้งเป้นการวางกรอบการทำงานคร่าวๆ ก่อนไปเจรจาครั้งนี้ก็ไม่มีการประชุมหารือก่อน อยากให้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและมีความจริงใจเพื่อทำให้การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปครั้งนี้ มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขณะนี้ ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ยังมีข้อสังเกตในหลายประเด็น

“เราขอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ เพราะขณะนี้ ร่างที่กรรมาธิการเห็นชอบไปแล้วส่วนใหญ่ ทำให้ รธน.มาตรานี้ เป็นเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับวังจุฑาเทพ…ลดทอนความสำคัญของประชาชนและผู้แทนปวงชนโดยการโอนอำนาจกลับไปฝ่ายบริหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการประจำ” ในร่างล่าสุด หนังสือสัญญาที่มีความสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร พลังงาน ฯลฯ ประชาชนและรัฐสภาจะไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ขณะที่หนังสือสัญญาทางการค้าการลงทุนที่มาตรานี้กำหนดให้ประชาชนและรัฐสภามีบทบาทก็ขีดเส้นเพียงประเด็นการเปิดเสรี นั้นหมายถึงว่าหนังสือสัญญาด้านการคุ้มครองการลงทุน หรือด้านทรัพย์สินทางปัญญาและอีกมาก จะไม่เป็นเรื่องของประชาชนอีกต่อไป อีกทั้งขั้นตอนที่ประชาชนพอจะมีบทบาทอยู่บ้างก็มีความกำกวมไม่ชัดเจน ไม่มีทีท่าว่าจะแก้ความคลุมเครือที่มีมาแต่เดิม

“การกระทำของกรรมาธิการร่วมซึ่งฝ่ายรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก ร่วมกับข้าราชการประจำซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลอย่างสูงในกรรมาธิการนี้ เปรียบเสมือนการยึดคืนพื้นที่ทางการเมืองและนโยบายของประชาชน โดยมองว่าประชาชนโง่ ผู้แทนประชาชนก็ไม่ไมความรู้เพียงพอ เรื่องการเจรจากับต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องให้ผู้มีการศึกษาสูง มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น ชาวบ้านไม่เกี่ยว”

กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ เรียกร้องให้กรรมาธิการร่วมทบทวนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยให้ครอบคลุมถึงหนังสือสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสังคม โดยให้มีกฎหมายลูกที่จะกำหนดลักษณะเฉพาะของหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญที่จะเข้าตามมาตรา 190 พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความชัดเจนและไม่ถดถอยไปกว่าเดิม

ที่มา : ประชาไทออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะบันทึกข้อมูลสมุนไพรลงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

admin 2 เมษายน 2019

เมื่อ 18 ธ.ค. – นายสมชาย ชินวานิชย์เจริญ เครือข่า […]