เพกา ของดีไทยส่งออกจีน

ย้อนอดีตเทศกาลตรุษจีนในชุมชนไทยเชื้อสายจีนจะฉลองกันนานนับสัปดาห์ โดยถือว่า 2 สัปดาห์หรือครึ่งเดือนหลังตรุษจีนยังเป็นห้วงเวลาขึ้นปีใหม่ ที่จะส่งความสุขอำนวยพรต่างๆ และเดินทางเยี่ยมเยือนญาติมิตร วันตรุษจีนปี 2023 เพิ่งผ่านไป ก็ขออวยพรผู้อ่านมาด้วยความรู้ เพกา อาหารและสมุนไพร พืชท้องถิ่นที่หมอยาจีนต้องการ

เพกาเป็นไม้พื้นบ้าน ในยุคนิยมกินผักให้มากขึ้นจะเรียก เพกาคือผักพื้นบ้านก็ได้ เพราะเป็นผักยืนต้นที่รู้จักกันดีและนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายประเภท คนทางเหนือเรียก มะลิดไม้ หรือ ลิดไม้ ทางอิสานเรียก หมากลิ้นฟ้า ซึ่งน่าจะมาจากลักษณะฝักของเพกาที่ชูเด่นบนยอดไม้ เมื่อแหงนหน้ามองเหมือนกับลิ้นโผล่มาจากฟากฟ้า ส่วนคนใต้แถบนราธิวาสเรียกเพกาว่า เบโก ภาษาจีนเรียก โชยเตียจั้ว และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz

ในประเทศไทยมีเครื่องดื่มสายพันธุ์จีนที่รู้จักกันดี “น้ำจับเลี้ยง” ปรุงด้วยสมุนไพรหลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์เย็นเพื่อช่วยดับร้อน แก้กระหาย แก้ไข้ก็ได้ มีสมุนไพรทั้งที่คนไทยรู้และหลายชนิดก็เป็นสมุนไพรของจีน เช่น ใบบัว รากบัว หญ้าคา เมล็ดเพกา เฉาก๊วย ดอกงิ้ว เก๊กฮวย โหล่เกง เทียงฮวยฮุ่ง แซตี่ แห่โกวเช่า หล่อฮั่งก้วย หรืออื่น ๆ เมล็ดเพกาเป็นสมุนไพรในน้ำจับเลี้ยงที่ขาดไม่ได้ และเมล็ดเพกายังอยู่ในตำรับยาจีนอีกมากมาย แม้ว่าต้นเพกามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเจริญเติบโตได้ในป่าธรรมชาติของไทยด้วยนั้น ก็ยังพบเพกาได้ทางตอนใต้ของจีน แต่ตลาดยาจีนกว้างใหญ่มาก ในหลายสิบปีมาแล้วจึงมีพ่อค้าไทยและจีนมารับซื้อเมล็ดเพกาไทยจำนวนมากมาย ซึ่งปกติตั้งแต่ปลายปีจนต่อต้นปีเมื่อเข้าฤดูแล้งหรือหน้าหนาวบ้านเรา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจะเดินเก็บและขอซื้อฝักแห้งเพกาเพื่อแกะเอาเมล็ดส่งขายจีน เข้าใจว่ายิ่งเป็นต้นเพกาที่ขึ้นตามธรรมชาติยิ่งเป็นที่ต้องการ

เมล็ดเพกา ตามสรรพคุณยาจีน มีรสขม เป็นยาเย็น มีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ และช่วยระบายท้อง

คำอธิบายสรรพคุณของเมล็ดเพกาเพิ่มเติมว่า สรรพคุณตามยาจีนนั้น เมล็ดเพกามีส่วนช่วยให้ปอด ตับ และกระเพาะอาหาร ทำงานดีขึ้น และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เมื่อส่วนอื่นๆดีมีกำลังก็ช่วยแก้อาการไอ เสียงแหบแห้ง แก้ร้อนใน แผลในช่องปาก ทำให้ชุ่มคอ และช่วยอาการในกระเพาะอาหาร สำหรับท่านที่เก็บหรือหาซื้อเมล็ดเพกาแห้งไว้ สามารถนำมาใช้แบบง่าย ๆ ในครัวเรือนได้ ใช้เมล็ดเพกา 3 กรัม (ประมาณ 1 ขยุ้มมือ) ต้มน้ำ 300 ซีซี (ประมาณ 1 แก้วครึ่ง) ต้มด้วยไฟอ่อนๆ ให้เดือด ดื่มหรือจิบน้ำยาเพกานี้บ่อยๆ ช่วยแก้ไอได้ หรือนาน ๆ นำมาต้มกินก็ช่วยบำรุงปอด

สำหรับสรรพคุณยาไทย กล่าวถึงเพกาไว้ว่า เปลือก รสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย และเย็น ใช้เป็นยาสมานดับพิษโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยสมานแผล แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง และใช้ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อักเสบ ฟกช้ำ บวม ใบ แก้อาการปวด ไข้ ปวดท้อง ขับลมในลำไส้ ใช้ใบเพกาต้มกับน้ำดื่ม ฝักแก่ มีรสขมกินได้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร ระงับไอ ฝักอ่อน กินได้เช่นกัน มีรสขมร้อน ใช้เป็นยาขับลม ราก บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง เมล็ด มีรสขม เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ และในความรู้ของการแพทย์พื้นบ้านไทย ยังใช้เพกาทั้งห้าหรือทั้งต้น (ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล(ฝัก)) มีรสฝาดขมเย็น เป็นยาสมานแผล แก้อักเสบฟกบวม แก้ท้องร่วง แก้ไข้ เพื่อลมและโลหิต แก้น้ำเหลืองเสียด้วย นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาที่กล่าวถึงสรรพคุณเพกาเป็นยาบำรุงกำลังและบำรุงเรื่องสุขภาพทางเพศด้วย ซึ่งแนะนำว่ากินบำรุงร่างกายได้ทั้งชายและหญิง

มาคิดสืบสาวว่าเหตุใดเพกาจึงบำรุงกำลังได้ดี น่าจะดูจากการศึกษาสมัยใหม่ เช่น ในฝักอ่อนเพกา มีวิตามินซีสูงมาก เรียกว่าสูงพอๆ กับมะขามป้อมที่ถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีวิตามินซีสูง ถ้าเทียบกับมะนาวก็ชนะขาดลอย ด้วยเหตุมีวิตามินซีตามธรรมชาติที่สูงนี่จึงซึ่งมีส่วนในการต้านอนุมูลอิสระ และพบสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆ ด้วย ซึ่งช่วยชะลอความเสื่อม ลดความเสี่ยงโรคร้าย ๆ และช่วยบำรุงร่างกายหรือช่วยการป้องกันโรค และในยุคที่เราต้องสู้กับหวัดหลายสายพันธุ์ เพกาจึงเป็นอาหารสมุนไพรที่ดีชนิดหนึ่ง การได้กินยอดอ่อน ฝักอ่อน เผาไฟเช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ราดกะทิ หรือจะทำยำฝักเพการสแซ่บ อร่อยมากๆ กินเป็นประจำดีต่อสุขภาพแน่นอน (การกินฝักเพกาต้องทำให้สุกด้วยการเผาไฟ)

นอกจากนี้พบงานวิจัยที่แสดงว่า สารสกัดจากฝักเพกา มีสารสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ baicalein และ chrysin มีฤทธิ์ต้านการสะสมของไขมันในเซลล์ไขมัน ในอนาคตอาจพัฒนาเป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงหรือโรคอ้วน แต่ถ้าไม่รอผลิตภัณฑ์ก็แนะนำให้กินฝักเพกาเป็นอาหารสมุนไพรก็จะดี และยังมีการศึกษาเบื้องต้นทางคลินิก ให้อาสาสมัครกินแคปซูลเพกา ที่มีส่วนผสม เพกา ขิง และกระชาย ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล ครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ วัดผลพบว่าระดับไขมันตัวร้ายแอลดีแอลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ ซึ่งน่าจะศึกษาวิจัยลงลึกต่อไป

เพกาเป็นไม้พื้นเมืองที่น่าปลูกเพิ่ม ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ต้นเตี้ยและให้ผลผลิตฝักมากๆ ใครจะปลูกพันธุ์ดั้งเดิมหรืออย่างไรก็สุดแท้แต่ เพกาเป็นไม้โตเร็ว แต่ในตำราปลูกต้นไม้ คนไทยโบราณห้ามปลูกในบริเวณบ้าน เพราะถือว่าฝักเพกามีลักษณะคล้ายดาบหรือปลายหอก ไม่เป็นมงคลต่อผู้อาศัย แต่ช่วยกันปลูกในสวนไร่นา น่าจะดีไม่น้อย

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยมีโอกาสเดินทางไปรัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย และพักแบบโฮมสเตย์ คนในชุมชนให้การต้อนรับด้วยการร้อยเมล็ดเพกาเป็นพวงมาคล้องคอให้ทุกคน เพราะถือว่าเมล็ดเพกาคือสิ่งดีๆ เป็นมงคล (ตามภาพประกอบ) ตรุษจีนนี้ ขอมอบเมล็ดเพกาให้ทุกท่าน.