เรื่องของ “แม่ก๋ำเดือน” (จบ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาหารของแม่ก๋ำเดือนหรือแม่หลังคลอด จะเป็นอาหารที่ไม่แสลงต่อทั้งตัวแม่และลูก เน้นพื้นผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ผักปลอดสารพิษ ให้ความสำคัญกับการลดภาวะความเสี่ยงการเจ็บป่วยหลังคลอดของแม่ แม้อาหารของแม่ก๋ำเดือนจะไม่หลากหลายก็ตาม แต่ให้สารอาหารครบถ้วน เช่น
ข้าว ให้พลังงานและแป้งกับร่างกาย
น้ำพริกดำมีรสเผ็ดร้อนทำให้เลือดลมแม่ไหลเวียนดี เกลือแร่ กลิ่นหอมของพริกคั่วช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร
ผักพื้นบ้าน (กินได้บางชนิด) ช่วยขับลมให้กับแม่และลูก และวิตามินจากผัก
ปลาปิ้งหรือย่าง ให้โปรตีนและแคลเซียมบำรุงกระดูก หมูย่าง ให้โปรตีนให้แม่ก๋ำเดือน
ส่วนน้ำสมุนไพร ช่วยทำให้ระบบเลือดลมไหลเวียนดี ขับลมให้กับแม่และลูก ช่วยไม่ให้แม่และลูกท้องอืดท้องเฟ้อ ขับคาวปลา บำรุงน้ำนม เช่น ไม้นมนาง น้ำขิง โดยไม่ต้องใส่น้ำตาล

อาหารที่ แม่ก๋ำเดือน ควรงด
คนล้านนามีข้อห้ามเรื่องของการกินที่เคร่งครัดอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพของแม่และลูกโดยตรง ดังนั้นจึงมีข้อห้ามและข้อควรระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องการกิน
พืชผักพื้นบ้านที่ “ห้ามกิน” โดยเฉพาะผักพื้นบ้านที่มีกลิ่นฉุน รสเย็น ของหมักดอง ได้แก่ ผักชะอม แตงกวา ผักตำลึง ผักปลัง หน่อไม้ดอง ขนุนทั้งดิบและสุก แตงโม ทุเรียน ผลไม้ที่มีรสเย็น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ใหญ่ ปลาหนังทุกชนิด กะปิ ปลาร้าไม่ควรกิน
การกินอาหารของแม่จะส่งผลกับลูกที่ดูดนม เพราะอาหารที่แม่ทานจะลงไปที่น้ำนม เช่น ถ้าแม่ทานน้ำเย็น ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่า จะทำให้น้ำนมดิบ คาว เมื่อลูกทานแล้วจะทำให้ปวดท้อง และทำให้น้ำนมแม่ไหลไม่สะดวก การรับประทานอาหารที่แสลงบางชนิด จะทำให้ลูกเป็นผดผื่น ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้อง เป็นต้น

แม่ก๋ำเดือนควรงดอาหารแสลงอย่างน้อย 4 เดือน เชื่อว่าหากไม่งดของแสลงจะทำให้เป็นผลเสียแก่ร่างกายเมื่ออายุมาก เช่น หูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อมทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เมื่อเห็นฝนตั้งเค้าจะมีอาการหนาวสั่นเข้ากระดูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด อาเจียนเป็นประจำ เรียกอาการเหล่านี้ว่า “ผิดเดือน” เป็นอาการที่เรียกกันเฉพาะในภาคเหนือ

ดูแลลูกน้อยแล้วอย่าลืมดูแลคุณแม่ด้วย

#มูลนิธิสุขภาพไทย #แม่ก๋ำเดือน #คนท้อง #สมุนไพรไทย #อยู่ไฟ #หมอตำแย #ภูมิปัญญาคนเหนือ
#อาหารคนท้อง #อาหารแม่หลังคลอด