เอ็นจีโอแนะรัฐปรับค่าสารเคมี ชี้ “โบรไมด์อิออน” อันตรายจริง

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวภายในงานเสวนาเรื่อง “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” ว่าปัจจุบันยังมีความไม่เข้าใจในสารดังกล่าวอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วสารเหล่านี้ล้วนมีอันตราย เพียงแต่อันตรายที่เกิดจากโบรไมด์อิออนแตกต่างกับเมทิลโบรไมด์ เนื่องจากเมทิลโบรไมด์มีอันตรายเฉียบพลันกว่า โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด และในระยะยาวยังมีผลการศึกษาของ ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ระบุว่าอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งกับผู้ที่สัมผัสโดยตรง ที่ต้องกังวล คือสารโบรไมด์อิออนที่อาจพบการตกค้างในข้าวสารได้ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรเเละอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมออกประกาศในการควบคุมการใช้สารเคมีตกค้าง โดยกำหนดค่าความเป็นพิษสูงสุดที่ยอมรับให้บริโภคต่อวัน หรือการกำหนดค่าเอดีไอ (ADI : Acceptable Daily Intake) ต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวกิโลกรัมต่อวัน (mg/Bwkg) ซึ่งค่ากำหนดดังกล่าวไม่เหมาะสม ควรมีการปรับลดโดยให้เหลือเพียงค่าเอดีไอ 0.1 mg/Bwkg ทั้งนี้ จะทำหนังสือแจ้งไปยัง มกอช.และ อย.ต่อไป

นายวิฑูรย์กล่าวว่า สำหรับเรื่องการซาวน้ำและการหุงข้าวแก้ปัญหาสารตกค้างได้นั้น จากการทดสอบของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า การซาวน้ำ 1 ครั้ง สามารถทำให้สารลดลงเหลือร้อยละ 60.6 หากซาวน้ำ 2 ครั้ง ลดลงเหลือร้อยละ 46.2 แต่การทดลองไม่ได้รวมถึงการหุงข้าวด้วย จึงควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำการทดสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่ามาตรฐานสารเคมีต่างๆ นั้น จริงๆ แล้วควรมีภาคประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วย เนื่องจากการทำงานจะได้มีผลรอบด้านแท้จริง

ด้าน ผศ.นพ.ปัตพงษ์กล่าวว่า จากการทดลองในสัตว์ทดลองของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 90 วันและมีการทดลองค่าสารเมทิลโบรไมด์ในปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ จากผลการทดลองเฉพาะบางอวัยวะพบว่าเมทิลโปรไมด์มีผลกระทบต่อสมอง ต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์ทั้งรังไข่และลูกอัณฑะ เนื่องจากทำให้อวัยวะดังกล่าวมีขนาดโตขึ้น และผิดรูป ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ส่วนในกรณีของรังไข่ก็อาจส่งผลกระทบถึงขั้นเป็นหมันได้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารเคมีตกค้างในพริกสูงสุด ไทยแพนจี้ ก.เกษตรฯ ปฏิรูปตรา Q

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ […]

ทั่วโลกตื่นกลัวภัยคุกคามจากสารเคมี ประเทศไทยทำอะไรอยู่

admin 6 เมษายน 2019

สถานการณ์ภัยอันตรายจากสารเคมีเกษตรทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤต […]

เกษตรกรป่วยสารเคมีพุ่ง 4 เท่า เสี่ยงเซ็กซ์เสื่อม

admin 6 เมษายน 2019

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ส […]