แผนที่ต้นไม้เป้าหมายป่าเมือง

“ถ้าโลกนี้ไม่มีต้นไม้…..” ประโยคต่อไปในช่องว่าง คงไม่มีใครกล้าตอบ
โลกที่หมุนไปอย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนาเมืองที่เบียดเบียนเอาเปรียบธรรมชาติอย่างร้ายกาจเช่นทุกวันนี้ โดยเฉพาะการตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างตึกสูง ห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ โรงแรม หรือการตัดแต่งกิ่งก้านของหน่วยงานรัฐที่ไร้ความรู้และความรักต่อต้นไม้ เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาใหญ่ตามมามากมายต่อผู้คนในเมืองหลวงและคนทั้งประเทศในหลายมิติ

“ต้นไม้มีคุณค่าต่อผู้คนในชุมชนเมืองอย่างมาก มันทั้งช่วยฟอกอากาศให้เราได้หายใจ บดบังแสงแดด ดูดซับความร้อน ลดอุณหภูมิของเมือง ทั้งยังให้ความสวยงาม สบายตาเวลามองอีกด้วย แม้จะอยู่ไกลป่า แต่ว่าทุกคนในกรุงเทพฯ ล้วนเกี่ยวข้องผูกพันกับต้นไม้ตลอดเวลา” ผศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของต้นไม้ในเขตเมือง

ผศ.ดร.ฉัตรชัยกล่าวว่า จะเห็นได้ว่าตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ วัด สถานที่ราชการ ชุมชนย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ล้วนมีต้นไม้เพื่อช่วยฟอกอากาศทั้งสิ้น แต่จากข้อมูลงานวิจัยกลับพบว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้อยู่เพียง 3.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยจาก 22 เมืองใหญ่ในเอเชียที่มีถึง 39 ตารางเมตรต่อคน จะเห็นว่ากรุงเทพฯ มีต้นไม้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 10 เท่า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องใส่ใจเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งด้วยการรักษาต้นไม้ที่มีอยู่เดิม และเสริมเพิ่มเติมด้วยการปลูกขึ้นใหม่ นอกจากนี้ข้อมูลปี 2555 ยังพบว่า ต้นไม้ใหญ่สมบูรณ์ 1 ต้น จะผลิตออกซิเจนให้มนุษย์หายใจได้ 10 คน แต่คนกรุงเทพฯ มีประมาณ 9 ล้านคน ต้องการต้นไม้ถึง 900,000 ไร่ ขณะที่กรุงเทพฯ มีต้นไม้เพียง 12,000 ไร่เท่านั้น ภาครัฐจึงต้องเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้และเข้ามาส่งเสริมแก้ไขให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนนี้ กลุ่ม Big trees ร่วมกับสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย ชุมชนย่านตลาดน้อย สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ได้จัดโครงการสำรวจและตัดแต่งต้นไม้บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่ชุมชนโปลิศสภา ชุมชนโชฎึก เรื่อยไปจนถึงท่าเรือสี่พระยา เพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่ต้นไม้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถือเป็นชุมชนเก่าชาวจีนขุดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีวิถีชีวิตชุมชนที่น่าศึกษา ที่สำคัญตลอดแนวคลองผดุงกรุงเกษมจะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่นหลากหลายถึง 18 ชนิด สร้างความร่มรื่นแก่ชุมชนอย่างยิ่ง อาทิ ต้นประดู่บ้าน ไทรย้อยใบทู่ ต้นโพธิ์ ต้นแปรงล้างขวด จามจุรี มะขาม อะราง ราชพฤกษ์ และลั่นทม

ผศ.ดร.ฉัตรชัยกล่าวว่า ผู้ที่ศึกษาและทำงานด้านต้นไม้เห็นร่วมกันว่า ควรจัดทำ “แผนที่ต้นไม้” ขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษา อนุรักษ์ และวางแผนการพัฒนาชุมชนในย่านตลาดน้อย รวมถึงอาจเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่นทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป แผนที่ต้นไม้เคยทำกันแล้วในหมู่นักวิชาการ แต่ยังไม่แพร่หลายชัดเจน โดยแผนที่ดังกล่าวจะช่วยให้เรารู้ตำแหน่งของต้นไม้ เพื่อใช้วางแผนการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งในอนาคตหากแผนที่ต้นไม้ที่สมบูรณ์ทั่วทั้งกรุงเทพฯ จะทำให้เราสามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิต หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกในเมืองหลวงของเราได้ เพื่อหาทางรับมือแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างมีระบบ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการจัดทำอย่างจริงจังต่อไป ขณะที่ภาครัฐอย่าง กทม.เองก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังได้แล้ว

การสำรวจต้นไม้ในครั้งนี้ได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเดินสำรวจต้นไม้ทั้งหมด ว่ามีกี่ต้น และชนิดใดบ้าง โดยใช้เชือกในการวัดความกว้างรอบต้นไม้ และใช้สายตาคะเนความสูงเทียบกับอาคาร รวมถึงถ่ายภาพต้นไม้ทั้งต้น ใบ ดอกและผล (ถ้ามี) จากนั้นระบุพิกัดตำแหน่งของต้นไม้ในแผนที่ และระบุชื่อต้นไม้แต่ละต้น ก่อนสรุปรวมจัดทำเป็นแผนที่ต่อไป ทั้งนี้ จากการสำรวจต้นไม้บริเวณย่านตลาดน้อยแนวคลองผดุงกรุงเกษม มีต้นไม้ใหญ่ทั้งสิ้น 137 ต้น ต้นประดู่มากที่สุด 60 ต้น รองลงมาคือ ต้นไทรย้อยใบทู่ 19 ต้น ต้นแปรงล้างขวด 13 ต้น ต้นโพธิ์ 10 ต้น ตามลำดับ

นายสมปราชญ์ ลิขิตลือชา กรรมการสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้แผนที่ต้นไม้ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ นอกจากจะช่วยให้เราทราบตำแหน่งของต้นไม้ในเขตเมืองแล้ว ยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว หากประยุกต์ใช้ในแผนที่สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ต้นไม้ ทั้งยังสามารถใช้ในการวางแผนปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาชุมชนเมืองต่อไป ทั้งนี้ ต้นไม้ในเมืองนั้นน่าสงสารมาก เพราะต้องทนกับสภาพอากาศที่เลวร้าย เขามาอยู่ในเมืองเพื่อช่วยเราฟอกอากาศ เราต้องมองเห็นคุณค่าของเขา เพียงแค่หันมองจะพบว่าเขาอยู่ใกล้ๆ เรานี่เอง ต้นไม้ก็คล้ายมนุษย์ มีจิตใจ ต้นไม้ที่เก่าแก่เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ของเรา ดังนั้นเราลูกหลานต้องช่วยดูแลให้ดี

ขณะที่นายธราดล ทันด่วน หรือครูต้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง ระบุว่า การตัดแต่งต้นไม้ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าตัดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาทั้งกับต้นไม้และกับมนุษย์ ก็จะสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถเรียกคืนมาได้ เช่น หากต้นไม้แผ่กิ่งก้านออกไปบนถนน ก็ควรตัดแต่กิ่งนอน ไม่ใช่ตัดกิ่งนั่ง หรือตัดทั้งต้นจนเหี้ยนไปหมด หลายเรื่องตนไม่เห็นด้วยกับ กทม. เช่น การใช้ปูนไปปิดโพรง ทั้งที่โพรงนั้นเป็นโพรงเปิด การไปปิดเอาไว้จะทำให้ราขึ้น วิธีที่ถูกหากเป็นโพรงเปิดควรปล่อยเอาไว้ตามธรรมชาติ ส่วนโพรงปิดควรใช้ปูนอุดไม่ใช่ปะไว้เฉยๆ.

ที่มา : ไทยโพสต์ 9 มิ.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง