เลิกใช้สารเคมี-ฟื้นฟูคุณภาพดิน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับบริษัท สวนเงินมีมา จำกัด จัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2557 โดยได้รับเกียรติจาก ‘กุนนาร์ รุนด์เกรน’ อดีตประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ปาฐกถาหัวข้อ ‘อุทยานแห่งผืนดิน จากการล่าสัตว์และเก็บของป่า สู่ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และโลกหลังจากนี้’ ณ ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

กุนนาร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ทำให้เรามีอาหารและสุขภาพดี ดังนั้นปัญหาใหญ่มิได้ขึ้นอยู่กับความหิวโหย แต่กลับเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่หดหายไป เพราะมนุษย์ทำลายระบบของธรรมชาติ ด้วยการแย่งชิงทรัพยากรมาจากพืชและสัตว์ ทำให้วงจรธรรมชาติใหญ่เปลี่ยนแปลงไป “ปัจจุบันพบมีการปล่อยสารเคมีสูงถึง 1.2 แสนชนิด ซึ่งในทวีปยุโรปได้ออกกฎให้สารเคมีเหล่านี้ต้องเข้ารับการตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า สารเคมีราว 1 แสนชนิด ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานนั้นยังไม่ได้รับการตรวจสอบ”

พร้อมกันนี้ อดีตประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หยิบยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ต้องนำเข้าทรายจากสหรัฐฯ เพราะขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ฉะนั้นจึงเห็นแล้วว่า ทรัพยากรขณะนี้กำลังร่อยหรอ เพราะประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น คือ เรากำลังขุดโลกขึ้นมาใช้ “ขณะที่ชาวประมงต้องออกเรือไปจับปลาในทะเลไกลมากขึ้น หรือต้องใช้พลังงานสูง 17 เท่า เพื่อจับปลาให้ได้ในปริมาณที่เท่ากับอดีตในทะเลเหนือ ซึ่งเราไม่ค่อยสังเกตความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพราะไม่เคยนึกถึงนั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม เขาได้ยกตัวอย่างอีกว่า กรณีการขุดเจาะก๊าซใต้ดินในสหรัฐฯ ก็เช่นกัน สาเหตุที่ต้องใช้วิธีการนี้ เพราะการขุดเจาะก๊าซโดยวิธีง่ายได้หมดไปแล้ว จึงเปรียบเทียบได้กับต้นแอปเปิ้ล เรามักจะเก็บผลกินจากกิ่งที่อยู่ใกล้ก่อน แต่เมื่อหมดไปก็ต้องปีนต้นขึ้นไปที่สูงจนถึงกิ่งยอดบนสุด เพราะส่วนล่างไม่มีผลแอปเปิ้ลเหลืออยู่แล้ว

กุนนาร์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรที่ดีต้องรู้จักการปรับปรุงคุณภาพดิน มิใช่ทำลายให้เสื่อมลงด้วยการใช้สารเคมี เพราะกว่าจะสร้างดินขึ้นมาได้นั้นต้องใช้เวลาร่วม 1,000 ปี และมนุษย์ก็ไม่สามารถจะสร้างขึ้นเองได้ แม้ปัจจุบันหลายองค์กรจะมีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีฉบับใดที่เกี่ยวเนื่องกับการปกป้องดิน

ฉะนั้นหากยังปล่อยเป็นเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตอาหารของโลกได้ เช่นเดียวกับน้ำที่คนทั่วโลกราว 1.8 พันล้านคน ยังใช้น้ำใต้ดินในการอุปโภคบริโภค ซึ่งมองว่า เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ ถือได้ว่ามีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดินมหาศาล เช่น กรณีเปลี่ยนพื้นที่ป่าเขตร้อนเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองในบราซิล ซึ่งการทำระบบเกษตรกรรมลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้สารเคมีเท่านั้น รวมถึงธุรกิจเลี้ยงไก่ในไทยก็ไม่ค่อยเป็นแบบอย่างที่ดีมากนักด้วย “ล่าสุด ประชากรโลกราว 2 พันล้านคนมีน้ำหนักตัวเกินขนาด ในขณะที่อีก 1 พันล้านคนกำลังอดอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้จะบอกว่า ระบบข้างต้นมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะถึงแม้จะมีราคาถูกมาก แต่อย่าลืมว่า เรายังไม่จ่ายค่าต้นทุนอนาคตเลย เช่น ค่าดินเสื่อม ค่าจัดการมลพิษ ทำให้ลูกหลานของเราต้องรับภาระจ่ายส่วนต่างส่วนนี้แทน” เขาตั้งคำถาม

สำหรับน้ำมันนั้น เขาระบุว่าคงไม่หมดไปจากโลก แต่อาจมีส่วนหนึ่งราคาสูงมากขึ้นและหายากขึ้นเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจไม่เติบโตดังเช่นในอดีต ดังนั้นเราต้องเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงก่อนจะสายเกินแก้ให้ได้

กุนนาร์ ยังบอกถึงปัจจัยที่จะช่วยหนุนเสริม คือ ประชากรโลกกำลังเข้าสู่เสถียรภาพในหลายประเทศ เกิดสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นโอกาสทำให้หลายคนเลิกหมกมุ่นกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเราไม่ต้องการคนกล้าเสี่ยง แต่ต้องการคนพิทักษ์โลกมากกว่า

โดยหากมองในแง่บวก คนในสังคมยอมรับความอยุติธรรมน้อยลง และเรามีประชากรจำนวนมากที่พยายามไขว่คว้าหาชีวิตที่ดีกว่า สุดท้ายไม่ว่าผลที่ออกมาจะชอบหรือไม่ เชื่อมั่นจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ดังนั้น สิ่งที่สามารถทำได้เลย คือ การวางระบบอาหารต้องให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นจะเปลี่ยนเเปลงเฉพาะระบบเกษตรกรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องครอบคลุมถึงซุปเปอร์มาเก็ตและแหล่งอุตสาหกรรมด้วย

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา 5 มิ.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วย (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ

admin 6 เมษายน 2019

ถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับสังคมไทยในอนาคตคงจะพอทร […]

ระวังคุณภาพยาที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ

admin 6 เมษายน 2019

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรว […]

ผึ้งโพรงอพยพลงจากเขาให้น้ำผึ้งคุณภาพ

admin 5 เมษายน 2019

นายดนเหร๊าะหมาน นุ่มอุ้ย ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง ต.แม […]