แพทย์ มอ.คว้ารางวัลนวัตกรรมโลก

จากความต้องการที่จะให้คนไข้ได้รับความรู้สึกที่ดีในการผ่าตัดทำให้ เครื่องมือ PSU-Carpal Tunnel Retractor ถูกคิดค้นขึ้นโดย ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)ในปี 2551 เพื่อใช้ในการ ผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือซึ่งเป็นกันมากในหญิงอายุ 40-45 ปีและด้วยความ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สุดมหัศจรรย์จึงได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ในปี 2552 ก่อนที่จะสร้างชื่อเสียงก้องโลกอีกครั้งด้วยการคว้า รางวัล World Innovation Order of Merit หรือรางวัลนวัตกรรมโลก ในงาน World Inventor Award Festival ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมาได้สำเร็จ

ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อมือซึ่งเป็นเจ้าของผลงานชิ้นโบแดงดังกล่าวเปิดเผยว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เริ่มต้นมาจากการดูแลคนไข้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งส่วนใหญ่จะมีความ กลัวทั้งบาดแผลและเครื่องมือในการผ่าตัดโดยเฉพาะโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือจะพบคนไข้หรือผู้ป่วยในแต่ละวันเป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงรวมทั้งเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือโรคไทรอยด์ด้วยโดยอาการของโรคจะทำให้มือมีอาการชาไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

“PSU-Carpal Tunnel Retractor” หรืออุปกรณ์ช่วยผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือ “สงขลานครินทร์” ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยลดขั้นตอนและอุปกรณ์ในการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นเน้นความเหมาะสม เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและยุ่งยากซึ่งเครื่องมือชิ้นนี้ ช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัดให้เหลือเพียงแค่ 10 นาทีต่อผู้ป่วย 1 รายและบาดแผลจากการผ่าตัดเล็กลงโดยทิ้งร่องรอยไว้แค่ 1.5-1.8 ซม.เท่านั้นจึงทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วประหยัดค่าใช้จ่าย และลดภาวะ แทรกซ้อนต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องใช้เวลาในการผ่าตัดเกือบครึ่งชั่วโมงรวมทั้งยังต้องมีการดมยาและบาดแผลมีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าอีกด้วย”

เจ้าของรางวัลนวัตกรรมโลกเผยด้วยว่าสำหรับประโยชน์ของอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือ “สงขลานครินทร์” ในส่วนของแพทย์นั้นนอกจากจะทำให้การผ่าตัดเป็นไปด้วยความง่ายดายและรวดเร็วแล้วยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีโอกาสในการพัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ด้วยซึ่งในส่วนโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.)ปัจจุบันได้มีการเผยแพร่เครื่องมือชิ้นนี้ให้กับทีมแพทย์และนักศึกษาแพทย์ได้ทำการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้งานจริงและหากทางโรงพยาบาลหรือหน่วยงานใดสนใจในนวัตกรรมดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านทางงานประชาสัมพันธ์คณะแพทยศาสตร์ มอ. โทร. 0-7445-1145-6 แฟกซ์ 0-7445-1146 หรือ อีเมล pr@medicine.psu.ac. th ได้ตลอดเวลา

“เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพัฒนาเราก็จะสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้นแต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหยุดการพัฒนาอนาคตก็หยุด ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเราเป็นคนไทย หรือประเทศโลกที่ 3 เท่านั้นผมเชื่อว่าจริง ๆ แล้วคนไทยหลายคนมีความสามารถที่จะทำอะไรได้ดีกว่าต่างชาติด้วยซ้ำไปแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้คิดและมีโอกาสที่จะได้ไปนำเสนอในสิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่เท่านั้นเอง.” ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา : เดลินิวส์ 12 ธ.ค.56

บทความที่เกี่ยวข้อง