ไทยยังติดอันดับ’ความหิวโหย’

เปิดแผนที่ความมั่นคงอาหาร ไทยยังติดอันดับ”ความหิวโหย”

วรรคทองของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่บ่งชี้ว่าแม้จะมีเงินทองอยู่ในมือก็ไม่สามารถหาซื้ออาหารมาบริโภคได้ คือ”ใจความ”สำคัญที่วงเสวนา “อนาคตความมั่นคงทางอาหารไทย… ใครเป็นผู้กำหนด” จัดโดยสถาบันลูกโลกสีเขียว หยิบยกขึ้นเพื่อตีแผ่ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่กำลังรุกคืบ กลืนความมั่นคงทางอาหารของคนไทย

“ความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ที่จะเป็นความอยู่รอดของแต่ละประเทศ ท่ามกลางภาวะทางเศรษฐกิจที่อาศัยทุนนิยมเป็นตัวนำ หากเกษตรกรรายย่อยไม่ได้แสดงบทบาทในการรักษาอธิปไตยอาหาร จะเกิดวิกฤติทางอาหารในไม่ช้านี้”

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดประเด็น พร้อมย้ำถึงสถานะความไม่มั่นคงทางอาหารของประเทศไทยและคนไทย ซึ่งมูลนิธิชีววิถีจัดทำแผนที่ความเสี่ยงขึ้น และทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยนั้น ติดอันดับผู้ส่งออกอาหารในอันดับต้นๆ ของโลกโดยเฉพาะข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง ไก่ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก

ส่งออกสินค้าประมงและข้าวโพดหวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนยางพาราส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ยังพบว่าบริษัทซีพี กรุ๊ปของไทยยังเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก สูงถึง 23.2% ขณะที่บริษัทคาร์กิล ของสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 2 คือ 15.9% และบริษัทนิวโฮป ของจีนครองส่วนแบ่งการตลาด 13%

เขาชี้ว่าในทางกลับกัน แทบไม่น่าเชื่อว่าถึงไทยจะเป็นผู้ส่งออกอาหาร แต่ก็ยังติดอันดับความหิวโหยของโลกอยู่ด้วย โดยพบว่าในจำนวนประชากร 800 ล้านคนที่ขาดแคลนอาหารนั้นมีคนไทยถึง 4.7 ล้านคนที่ยังหิวโหย ตรงนี้สวนทางกับการเป็นผู้ส่งออกอาหารเนื่องจากอาหารที่ผลิตได้ยังขาดการกระจาย และถูกครอบครองโดยทุนรายใหญ่

ทั้งนี้ข้อมูลจากแผนที่สถานะความไม่มั่นคงทางอาหารของไทยระบุว่า มีคนไทย 60,000 คน เป็นมะเร็งตาย ในจำนวนนี้ 36% พบสารพิษในเลือด อีก 25% ภาวะบริโภคเกิน และ 7.3% ขาดแคลนอาหาร ขณะที่ 60% เกษตรกรที่มีอายุ 45-51 ยังต้องเช่าที่ดินทำกิน ส่วน 90% ของพันธุ์พืช พันธ์สัตว์อยู่ในมือบริษัทรายใหญ่ 3-4 แห่งเท่านั้น ทำให้ 32% ของพืชผักจึงยังมีสารเคมีตกค้าง เพราะมีเกษตรอินทรีย์อยู่เพียงแค่ 1% และสุดท้าย 75% ของร้านค้าปลีกและคอนวิเนียนสโตร์ก็คืออาหาร

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อสรุปว่าถ้าคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรยังไม่หันกลับมารักษาเมล็ดพันธุ์ เพื่อเก็บรักษาความมั่นคงทางอาหาร เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะขาดความมั่นคงทั้งด้านที่ดิน และอาหาร ต้องตกอยู่ภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยม” เขาสรุป

สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ย้ำว่าความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ชุมชนจะต้องเป็นผู้กำหนดเอง เพราะหากรอให้โลกกำหนด และรัฐบาลกำหนดจะต้องซื้ออาหารที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งขณะนี้แม้แต่ชุมชนภาคอีสานก็เริ่มจะล่มสลายจากที่ดินเพื่อการผลิต ทั้ง นา ไร่ สวน เพื่อปลูกข้าว ปลูกพืชทำกินหายไป 2 ใน 3 ของพื้นที่ และถูกแปลงเป็นสวนยางพารา ที่กำลังจะล่มจมเพราะราคาตกต่ำ ทำให้อำนาจและการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ระบบตลาด และการกระจายอาหารไม่เป็นธรรม
“ในนิยามของผมความมั่นคงทางอาหารหมายถึง การมีข้าวกิน มีกับข้าวที่เหมาะสม ไม่เสี่ยงในเรื่องขาดแคลนอาหาร มีอาหารว่าง ผลไม้ตามฤดูกาล เพราะอาหารของท้องถิ่นจะได้มาจากถิ่นฐานของตัวเอง ซึ่งที่มาจะต้องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรทางป่าไม้ ทะเล และมาจากฐานการผลิต ฐานวัฒนธรรม และฐานการค้า แต่ตอนนี้ทั้งข้าว ปลา ผักอยู่ในตลาด ไม่ใช่ข้าวอยู่ในนา ปลาไม่ได้อยู่ในน้ำ และผักไม่ได้อยู่ในสวนหลังบ้าน” นักวิชาการ สะท้อนปัญหา

เขาชี้ว่าหากจะต้องปฏิรูปเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารให้อยู่รอด ย้ำว่าชุมชนทุกแห่งจะต้องหาตัวเองให้เจอก่อน ต้องไม่วิ่งตามเงิน ตามการตลาด นโยบายของรัฐบาลที่เข้ามาล่อใจ ซึ่งกรณีของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นบทเรียนที่ชัดเจนเพราะรัฐรับจำนำข้าวราคาแพงทำให้เกษตรกรปลูกข้าวไปจำนำกับรัฐบาลในราคา 15,000 บาท แต่ตัวเองก็ยังต้องซื้อข้าวกิน เป็นต้น

ดังนั้นจึงอยากให้ตั้งสติ ปรับกระบวนทัศน์นำบทเรียนจากอดีต ใช้ภูมิปัญญามาส่งเสริม โดยการหยุดวิ่งตามเงิน ตามนโยบาย และก้าวเดินอย่างมั่นคงก็จะรักษาความมั่นคงทางอาหารของแต่ละท้องถิ่นไว้ได้

เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนของ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รีคอฟท์) ชี้ว่าบทบาทที่จะกำหนดระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารต้องเกิดจากรักษาฐานทรัพยากร และการจัดการอย่างบูรณาการจากเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ โดยพบว่ารายได้จากของป่าทั่วโลกนั้นมีมูลค่ารวมกันมากกว่าราคาทองคำของสวิตส์เซอร์แลนด์และฝรั่งเศส

ส่วนของไทยชุมชนหลายแห่งหาของป่ามีรายได้ถึง 23% มากกว่าการปลูกข้าวไว้กิน เช่น ในต.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เก็บเห็ดเผาะได้ถึงปีละ 1 ล้านบาท ส่วนบ้านกลาง จ.ลำปาง ขายหน่อไม้ปีนี้ได้ 1 ล้านบาท

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตจากป่ามีความสำคัญ ถ้าเรามีการจัดการป่าที่ดี และสร้างตลาด เป็นทางเลือกใหม่ในการส่งเสริมเกษตรกร ทำความเข้าใจให้รักษาการผลิตที่เหมาะสมจะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ และที่สุดก็จะรักษาฐานทรัพยากรที่เป็นต้นทุนของความมั่นคงทางอาหารได้ในที่สุด”นักวิชาการ สรุป

ความมั่นคงทางอาหาร จึงหมายถึงความมั่นคงของประเทศที่อยู่ในมือของทุกคน ว่าจะเลือกเดินตามทุนนิยม หรือรักษาฐานการผลิตของท้องถิ่นเพื่อความอยู่รอด…

แนะจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร

ในมุมมองของ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ปัจจัยคุกคามที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยมี 2-3 เรื่อง แต่ทุกส่วนกลับมีความสัมพันธ์กันโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบจะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการค้าเสรี ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ของผลกระทบต่อพันธุกรรมพืช ข้าว เมล็ดพันธุ์ เพราะอาจเกิดการละเมิดด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะมีผลต่อเข้าถึงและการกระจายอาหาร การสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะเดียวกันจะทำให้การเข้ามาของพืชเชิงเดี่ยว ที่เน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อรองรับการตลาด จะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร และเกิดการผูกขาดจากผลิตขนาดใหญ่

ดร.บัณฑูร บอกอีกว่า ส่วนปัจจัยที่มาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ที่เขาบอกว่า เริ่มเห็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเช่นกรณีลิ้นจี่สายพันธุ์ค่อม ที่หากินได้จาก จ.สมุทรสงคราม ปีนี้ ผลผลิตไม่ออก ส่วนเงาะที่ จ.จันทบุรี ออกช้าลง และยังมีผลยืนยันจากสถิติจากสำนักการเกษตรที่ระบุว่าปีนี้เงาะจาก 4 จังหวัดตะวันออกลดลงถึง 4% ซึ่งแม้ปัจจัยนี้จะไกลตัว แต่สำหรับเขามองว่าใกล้ตัวมาก เพราะจะกระทบกับการผลิตของเกษตรกรโดยตรง

เนื่องจากอุณหภูมิโลกทีคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 2.9 องศาเซลเซียสในอีก 83 ปีหรือ ค.ศ.2100 นั้นจะเป็นตัวเร่งให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงเกษตรเชิงเดี่ยว และใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

” สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการผลิตพืชเชิงเดี่ยว มีความสัมพันธ์ภาวะโลกร้อน เนื่องจากจะต้องมีการใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่จะปล่อยไนตรัสออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศ ยิ่งเสริมความรุนแรงของภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงมองว่าแนวทางรับมือที่จะให้ถูกกลืนจากการค้าเสรี และพืชเชิงเดียว ควรจะต้องการโซนนิ่ง และการวางแผนพื้นที่การเกษตรให้ตรงกับสภาพของพื้นที่และสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ในกรณีของเกษตรรายใหญ่ที่ยังเน้นผลิตแต่ใช้สารเคมีมาก ก็ควรจะถูกเก็บภาษีสารเคมี รวมทั้งต้องมีระบบการเก็บรักษาพันธุกรรมระดับท้องถิ่น ” เขาเสนอทางออก

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 5 ธ.ค.56

บทความที่เกี่ยวข้อง