โก้งสะเด็นหรือกงสะเด็น สมุนไพรหายาก

เมื่อสิบปีก่อนมีโอกาสทัศนาและพบหมอยาพื้นบ้านที่ประเทศลาว มีการพูดคุยกันถึงพืชชนิดหนึ่ง เรียกชื่อ “กงสะเด็น” เมื่อกลับมาได้สอบถามหมอพื้นบ้านอีสานว่ารู้จักหรือไม่ ก็พบว่ายังรู้จักสมุนไพรชนิดนี้ แต่ไม่สามารถพบเห็นพืชนี้ในธรรมชาติแล้ว การที่พืชสมุนไพรในป่าธรรมชาติหายไปและปลูกขยายพันธุ์ไม่ทันส่งผลให้ตำรายาที่มีส่วนประกอบของกงสะเด็นจึงหายไปด้วย

เมื่อหมอพื้นบ้านเข้าใจว่าสมุนไพรชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว พอมาเปิดค้นหนังสือรายชื่อพรรณไม้เมืองไทยก็พบข้อมูลว่า มีพืชชนิดหนึ่ง ชื่อ “กงสะเด็น” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Picria fel-terrae Lour. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Curanja จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว สูงได้ถึง 1 เมตร แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีการแตกกิ่งตามลำต้น มีรากออกตามข้อ ที่ไหลไปกับพื้นดิน ส่วนใหญ่เก็บมาจากป่าธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้เป็นสมุนไพรตามตำรับดั้งเดิม แต่มีหลายพื้นที่ที่มีการปลูกแล้วนำมาจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น สมุนไพรนิดนี้มีการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนตอนใต้ อินเดียจนถึงเมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีรายงานว่าเป็นสมุนไพรที่หายาก เกิดขึ้นบนเนินป่าหรือชายป่าที่ร่มรื่น ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง 900 เมตร กงสะเด็นมีการใช้เป็นสมุนไพรมากในแถบเอเชียตะวันออก

มีการศึกษาเชิงลึก พบสารสำคัญหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยส์ (flavonoids) ไกโคซายด์ (glycoside) คิวแรนจิน (curangin) และกลุ่มไตรเตอร์ปีน แซปโปนิน (triterpene saponins) สารคิวแรนจินที่พบมีคุณสมบัติเหมือนไดจิทาลีส (digitalis) ที่ใช้เป็นยากระตุ้นหัวใจ ที่ได้จากพืชในสกุล Digitalis แต่มีความเป็นพิษเล็กน้อย เมื่อนำสมุนไพรแห้งมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์พบว่าสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคในลำไส้ (Proteus vulgaris) และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ (Staphylococcus aureus) นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริม (herpes simplex 1.)

ใบสดมีรสขมมาก จัดว่าเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยได้ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ กระตุ้นให้มีประจำเดือน กระตุ้นลำไส้ กระเพาะอาหารและ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ถ้าหมักด้วยแอลกอฮอล์ใช้เป็นยาชูกำลัง ทั้งต้นนำมาต้มดื่มรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอาการปวดท้องเนื่องจากกระเพาะอาหารผิดปกติ อาการโคลิก (อาการปวดท้องในเด็กเล็ก) และอาการผิดปกติของตับ ใบสดนำมาบดใช้พอกแผลและรักษาโรคผิวหนัง เมื่อใช้ร่วมกับใบบัวบกจะช่วยรักษาไอกรนและอาการเจ็บแน่นหน้าอก เมื่อนำไปใช้ร่วมกับดูกไก่ย่าน (Hedyotis capitellata) ใช้แก้พิษงู ในตำรายาจีนใช้รักษาเริม ป้องกันการติดเชื้อ มะเร็งและลดอาการอักเสบ

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2564 มีโอกาสทำงานกับหมอพื้นบ้านเชียงรายพบว่า มีตำรับยาที่ใช้สมุนไพรที่เรียกว่า “โก้งสะเด็น” ในเบื้องต้นเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง ”กงสะเด็น” ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อทำการสำรวจภาคสนามกลับพบว่า โก้งสะเด็นของหมอพื้นบ้านเชียงราย คือ สมุนไพรทีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hyptis brevipes Poit. มีชื่อทางราชการไทยว่า “ฉัตรพระอินทร์” มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Lesser roundweed โก้งสะเด็นเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงฤดูเดียวเช่นกัน แต่ในบางสภาวะอาจมีอายุมากกว่า 1 ปี ก็เป็นไปได้ มีการแตกกิ่งจากลำต้นจำนวนมาก สูง 30-60 เซนติเมตร มีการนำมาประกอบอาหารหรือใช้เป็นสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเก็บมาจากธรรมชาติ โก้งสะเด็นมีการกระจายในอเมริกาใต้ อเมริกากลางและหมู่เกาะแคริเบี่ยน เมล็ดมีการกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งกลายมาเป็นวัชพืชในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในบางพื้นที่มีการนำใบโก้งสะเด็นหรือฉัตรพระอินทร์มาปรุงอาหาร มีการนำใบมาต้มดื่มหลังคลอดบุตร ทั้งต้นนำมาต้มดื่มขับพยาธิในเด็ก มีรายงานว่ามีการนำเอาน้ำมันหอมระเหยไปใช้ในการรักษาอาการหอบหืด และมาลาเรีย ทั้งต้นเมื่อนำมาสกัดด้วยเมททานอลจะได้สารสกัดหยาบที่มีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและต้านเชื้อรา ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบและดอกมีสารสำคัญคือ แครี่โอฟิลลีน (caryophyllene) และแครี่โอฟิลลีนออกไซด์ (caryophyllene oxide) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดหยาบที่ได้จากการสกัดด้วย ไดคลอโรมีเทน (dichloromethane; CH2Cl2)
สามารถใช้ฆ่าตัวอ่อนของหนอนเจาะฝ้ายชนิด Spodoptera littoralis ได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำมันหอมระเหยใช้ในการขับไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ ในโรงเก็บธัญญาพืชได้ดี

หมอพื้นบ้านในจังหวัดเชียงรายใช้โก้งสะเด็นเข้ายาบำรุงกำลัง มีความเป็นไปได้ว่าโก้งสะเด็นที่อยู่ในตำรับของหมอพื้นบ้านน่าจะเป็นชนิด Picria fel-terrae Lour. เพราะชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่หาได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับโก้งสะเด็นชนิด Hyptis brevipes Poit. ที่เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้และได้มีการนำเข้ามาสู่ประเทศไทย มีลักษณะที่คล้ายกับชนิด Picria fel-terrae Lour. จึงนำมาใช้แทนกัน เมื่อได้ผลจึงได้มีการใช้กันต่อ ๆ กันมา

เหตุที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเนื่องจากมูลนิธิสุขภาพไทยและสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท ลงพื้นที่จัดการความรู้กับเครือข่ายหมอพื้นบ้านทั้งสี่ภาค เห็นโอกาสและงานท้าทายที่นักวิชาการน่าจะได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกในสรรพคุณ และเครือข่ายผู้สนใจสมุนไพรช่วยกันส่งเสริมการปลูกขยายพันธุ์กงสะเด็น ชนิด Picria fel-terrae Lour.ให้มีจำนวนประชากรมากยิ่งขึ้น จะก่อประโยชน์ในอนาคตอย่างแน่นอน