โยธกาหรือโยทะกา

คนรุ่นหกสิบเจ็ดสิบอัพ จำความได้ก็รู้จัก ดอกโยทะกา ว่าเป็นไม้ดอกในกลุ่มเดียวกับต้นชงโค แต่โยทะกาจะมีดอกสีเหลือง ในขณะที่กาหลงสีขาว และชงโคสีม่วง

แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ได้ทราบจากรุ่นน้องที่เป็นนักพฤกษศาสตร์ว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นโยธกาที่ผ่านมาใช้ชื่อ Bauhinia monandra Kurz ซึ่งที่จริงแล้วชื่อวิทยาศาสตร์นี้เป็นของชงโคที่มีดอกเป็นสีชมพู แต้มแดงและเหลืองหรือที่มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ชงโคสามสี” ซึ่งเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเกาะมาดากัสกา ถ้าเป็นชงโคดอกสีเหลืองจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia tomentosa L. ซึ่งเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอัฟริกาและได้มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย

แต่ในเอกสารหลายชิ้นที่กล่าวถึงพืชชนิดนี้ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชนิด Phanera integrifolia (Roxb.) Benth. เนื่องจากในเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้กล่าวไว้ว่า “สาวหยุด โยทะการะย้าย้อย พระทรงทัดตรัสชวนพระน้องชาย อนุชาพลางค่อยสอยถวาย มาชมไม้ให้สบายด้วยพี่ยา” แสดงว่าดอกโยทะกาน่าจะมีลักษณะเป็นช่อระย้า ซึ่งตรงกับลักษณะของดอกไม้ในกลุ่มชงโคที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phanera integrifolia (Roxb.) Benth.

ในสักกบรรพคำฉันท์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนหนึ่งได้มีการบรรยายถึง “ปรู ประยงค์ ชงโค ตะโก โยธกา” ทำให้น่าคิดว่า โยธกาหรือโยทะกานี้น่าจะเป็นไม้ของไทย ซึ่งพืชที่ชื่อ Phanera integrifolia (Roxb.) Benth. ก็เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีชื่อท้องถิ่นเรียกว่า ชงโคย่าน ย่านชงโค (ตรัง) ชิงโคย่าน (ภาคใต้) เถาไฟ โยทะกา (กรุงเทพฯ) ปอลิง (สุราษฎร์ธานี) เล็บควายใหญ่ (ปัตตานี ยะลา) เป็นต้น แต่ยังมีข้อกังขาอีกว่า ในหนังสือ อักขราภิธานศรับ ของหมอบรัดเล พ.ศ. 2416 มีบรรยายว่า “โยทะกา เปนคำเรียกของสำหรับทอดสมอให้เรืออยู่ แต่มันมีสันถานเหมือนหนามต้นโยทะกา”

แต่โยทะกาที่เป็นไม้ในกลุ่มชงโคที่กล่าวมาแล้วไม่มีชนิดใดเลยที่มีหนาม ในเอกสารของกรมป่าไม้ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย มีการกล่าวถึงไม้ที่มีชื่อพื้นเมืองในบางท้องที่ว่า โยทะกา ซึ่งมีอีกหลายชนิด เช่น (1) Benkara sinensis (Lour.) Ridsdale มีชื่อท้องถิ่นว่า เขี้ยวกระจง คัดเค้าเล็ก (ขอนแก่น) เขี้ยวจง (นครศรีธรรมราช) คัดเค้าหนู (ระยอง) โยทะกา (ปะจวบคีรีขันธ์) ลิเถื่อน (ยะลา) หรือ (2) Oxyceros horridus Lour. ที่มีชื่อท้องถิ่นว่า เขาวัว โยทะกา (ตะวันออกเฉียงใต้) เขี้ยวกระจับ (ตะวันตกเฉียงใต้) คัดเค้า (ภาคอีสาน ภาคเหนือ) คัดเค้าเครือ (นครราชสีมา) คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ) เค็ดเค้า จีเต๊า (ภาคเหนือ) พญาเท้าเอา (กาญจนบุรี) หนามลิดเค้า (เชียงใหม่) หนามเล็บแมว (ลำปาง) ซึ่งโยทะกาที่หมอบรัดเลกล่าวถึงอาจหมายถึงชนิดนี้ Oxyceros horridus Lour. ก็เป็นไปได้ เนื่องจากมีหนามเหมือนสมอโยธกา ดอกเป็นช่อ เมื่อดอกแก่มีสีครีมอมเหลือง แต่ชนิด Benkara sinensis (Lour.) Ridsdale มีหนามเป็นแบบแท่งตรง ลักษณะไม่ตรงกับสมอโยธกา

โยทะกาชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในไทยชื่อ Phanera integrifolia (Roxb.) Benth.มีชื่อราชการว่า “เถาไฟ” มีการกระจายมากในป่าภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ มีมือเกาะ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง ขอบเป็นคลื่น ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน เมื่อแก่แตก มี 5-8 เมล็ด ลักษณะแบนเกือบกลม เปลือกลำต้นมีความเหนียวและแข็งแรงมากนิยมนำมาทำเป็นสายธนู ในรัฐยะโฮห์ ประเทศมาเลเซียนิยมนำน้ำที่คั้นจากใบมาใช้เป็นยารักษาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ในฟิลิปปินส์นำรากไปต้มดื่มหลังคลอดและใช้เป็นยาแก้ไอ ในประเทศอินเดียนำเปลือกมาใช้ล้างมือ 3-4 วัน เพื่อรักษาโรคดีซ่าน

สำหรับโยทะกาชนิด Oxyceros horridus Lour.มีชื่อทางราชการว่า คัดเค้าเครือ เป็น ไม้รอเลื้อยเนื้อแข็ง เนื้อไม้เหนียวมาก มีหนามแหลม ปลายโค้งแข็งเป็นคู่ตามข้อและโคนใบ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ดอกเป็นช่อใหญ่ เมื่อแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแกมเหลือง กลิ่นหอมแรงในตอนกลางคืน ผลสดแบบผลกลุ่ม รูปกลมรี สีเขียวเข้ม เมื่อแก่สีดำ มีการกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ในตำรายาไทย ทั้งต้น มีรสฝาด แก้เสมหะ และโลหิต บำรุงโลหิต แก้ไข้ ใบ แก้โลหิตซ่าน แช่น้ำดื่มแก้ไข้ ราก มีรสเย็นฝาดเล็กน้อย แก้ไข้ และเลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ รากหรือแก่น ฝนน้ำกินแก้ไข้ เปลือกต้น แก้เสมหะและโลหิตซ่าน รีดมดลูก แก้เลือดออกในทวารทั้งเก้า หนาม แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ ลดไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษไข้กาฬ ดอก รสขมหอม แก้โลหิตในกองกำเดา แก้เลือดออกตามไรฟัน ผล รสเฝื่อนปร่า ปรุงเป็นยาต้มฟอกโลหิตระดูที่เน่าร้ายของสตรี เป็นยาขับประจำเดือน ฟอกเลือด บำรุงโลหิต ผลมีสารจำพวกไตรเทอร์ปีน ซาโปนิน มีฤทธิ์เบื่อปลา จากสรรพคุณของคัดเค้าเครือนี้น่าจะมีศักยภาพด้านการแก้ไขและถ้าอินเทรนด์ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาแก้ไข้โควิด-19 ก็น่าจะพัฒนากันต่อไป

โยธกาหรือโยทะกา ชื่อไทย ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งว่า เรียกชื่อเหมือนกันแต่สร้างความสับสนว่าใช้สมุนไพรชนิดไหนแน่ในตำรับยาที่บันทึกหรือกล่าวไว้แต่โบราณ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำฐานข้อมูลชื่อสมุนไพรที่ปรากฎในตำรายาต่าง ๆ ให้มีชื่อวิทยาศาสตร์กำกับอยู่ด้วย สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะเภสัชศาสตร์และการแพทย์แผนไทยน่าจะเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับเครือข่าย ทำความชัดเจนในการนำเอาสมุนไพรมาใช้ให้ถูกชนิดหรือถูกต้น และจะมีส่วนสำคัญในการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในระดับสากลอีกด้วย.