10 พฤติกรรมนำพา ‘เชื้อดื้อยา’

ปลายปีแบบนี้ “โรคหวัด” ถือเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิต เพราะหลายพื้นที่เริ่มอากาศหนาวเย็นลง และในผู้ป่วยหลายรายมักเข้าใจว่าการรักษาโรคหวัด ต้องใช้แต่ยาปฏิชีวนะเท่านั้น ซึ่งความเข้าใจนี้เป็นเรื่องที่ผิดที่ทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” อันตรายแฝงจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) ให้ข้อมูลว่า การดื้อยาเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียมากจนเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองขึ้นจนกลายเป็น ซูเปอร์บัค (Super Bug) ที่ดื้อต่อยาและหายารักษาได้ยากจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในที่สุด โดยปัจจุบันพบว่า ในทุก 15 นาทีมีคนไทย 1 คนตายเพราะเชื้อดื้อยา และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 20,000-38,000 คน การใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการแพ้ยาและผลข้างเคียงมากขึ้น

“ยาปฏิชีวนะจะให้ผลในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี เช่น โรคปอดบวม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อที่ไต การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น แต่คนไทยมีความเข้าใจผิดในการใช้ยา ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยอากาเพียงเล็กน้อย เช่น อาการโรคหวัด เจ็บคอ ไอ จามสามารถหายได้เองถ้าไม่มีอาการติดเชื้อเพิ่ม ยาปฏิชีวนะไม่มีผลต่อการดำเนินการของโรคแต่อย่างใด และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อยังเพิ่มโอกาสให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

สำหรับ 10 พฤติกรรม ต้นเหตุเชื้อดื้อยา ได้แก่
1.เคยซื้อยาต้านแบคทีเรียกินตามคนอื่น การซื้อยาต้านแบคทีเรียมารับประทานเองอาจได้ยาที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ และส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้

2.เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรียเมื่ออาการดีขึ้น ยาต้านแบคทีเรีย ต้องรับประทานติดต่อตามที่กำหนด หากหยุดรับประทานอาจมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่และเชื้อโรคจะพัฒนาตัวเองไปสู่การดื้อยาได้

3.เคยซื้อยาต้านแบคทีเรียกินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ ในครั้งก่อนๆ ยาต้านแบคทีเรีย แต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแต่ละชนิดต่างกัน การใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่เลือกให้เหมาะกับชนิดเชื้อโรค นอกจากจะทำให้ไม่หายแล้ว ยังส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้

4.ยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย การใช้ยาต้านแบคทีเรียฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสมและต้องใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด การใช้ยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ยังเป็นการใช้ยาที่เกินความจำเป็น และอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

5.เปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดที่แรงกว่าด้วยตนเอง การใช้ยาต้านแบคทีเรียฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม บางครั้งอาการเจ็บป่วยต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรอาการถึงจะดีขึ้น การเปลี่ยนตัวยาที่แรงขึ้น อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

6.เอายาต้านแบคทีเรียโรยแผล นอกจากจะเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังทำให้แผลสกปรกและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแผลอักเสบลุกลามได้ เพราะผงในแคปซูลไม่ได้มีแต่ตัวยาเท่นั้น ยังมีผงแป้งผสมอยู่ด้วย แลอาจทำให้เชื้อโรคที่แผลพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้

7.ใช้ยาต้านแบคทีเรียผสมในอาหารสัตว์ เป็นการใช้ยาที่ผิด และอาจไม่ได้ผลอีกด้วย เนื่องจากขนาดยาที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้

8.ใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา นอกจากจะเสี่ยงที่จะได้รับยาที่เคยแพ้แล้ว อาจได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อโรค

9.เคยไปซื้อยาแก้อักเสบกินเอง อาการอักเสบตามความเข้าใจของคนทั่วไปมีหลายแบบ เช่น อาการปวดอักเสบจากแผลหนอง อักเสบเจ็บคอ หรืออักเสบจากการปวด และไปซื้อยาแก้อักเสบกินเอง ทำให้อาจได้ยาต้านแบคทีเรียมาแทนยาแก้ปวดอักเสบ เป็นการใช้ยาแบบไม่จำเป็น

10.การไม่แนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรีย ใช้ยาอย่างเหมาะสม การเพิกเฉยของเรา เท่ากับการปล่อยให้มีการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม สุดท้ายเมื่อเชื้อโรคพัฒนาตัวเองไปสู่เชื้อดื้อยา ปัญหาจะกลับมาส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และผู้ป่วยคนอื่นๆ ในอนาคตได้

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุน ทางศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดทำสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาที่ รวมถึงชุดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกโรคถูกวิธีอีกมากมายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจแหละตระหนักในเรื่องของการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://atb-aware.thaidrugwatch.org และ https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness

ที่มา : ข้อมูลจากศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และงาน “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559”
โดย http://www.thaihealth.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

“แมลงวัน” ตัวแพร่ “ยีนดื้อยาอันตราย”

admin 6 เมษายน 2019

รายงานพิเศษ นสพ.คมชัดลึก วงการแพทย์ทั่วโลกเร่งวิจัยสืบค […]

ไทยตายจากเชื้อดื้อยาวันละ 100 ราย สูงกว่าทั่วโลก

admin 6 เมษายน 2019

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ในงานแถ […]

ไทยตายจากเชื้อดื้อยาเพียบ ห่วงหว่านใช้ยาคนใน “พืช-สัตว์”

admin 5 เมษายน 2019

เมื่อ (18 พ.ย.) ที่โรงแรมแมนดาริน กทม. นพ.ปฐม สวรรค์ปัญ […]