บันทึกหน้าหนึ่งในชีวิตเรา

“ แค่สามารถทำให้วัยเด็กของคนคนหนึ่งมีช่วงเวลาที่มีความสุขและเติบโตต่อไปได้ เป็นสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และสอดคล้องไปกับชีวิตเรา….”

เจี๊ยบ หรือ จันทร์พร สุทธิธรรมจิต และ เบ๋ หรือ โชคชัย สุทธิธรรมจิต สองสามีภรรยา เป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาชิกชมรมค่ายอาสาพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุค 20 ปีย้อนหลัง ได้รับการกล่อมเกลาให้มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการออกค่ายทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน แบ่งปันความช่วยเหลือให้ชาวบ้านทุกข์ยากในชนบท หล่อหลอมให้ทั้งสองใส่ใจสังคมรอบข้างมากกว่าสนใจเฉพาะเรื่องของตนเอง

แต่ด้วยสายวิชาชีพที่เลือกเรียนผลักดันให้เขาและเธอเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนธรรมดาในปัจจุบัน ท่ามกลางวันและวัยที่ผันผ่าน จันทร์พรเล่าว่าความคิดยังวนเวียนว่าตนเองได้ช่วยเหลือสังคมแล้วหรือไม่

จนกระทั่งได้เป็นอาสาสมัครนวดเด็กที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด เมื่อปี ๒๕๕๐ ทั้งจันทร์พรและโชคชัยค้นพบข้อสรุปร่วมกันว่า การช่วยเหลือสังคมก็คือการมีส่วนร่วมทำให้สังคมดีขึ้นนั่นเอง ซึ่งอาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ดังที่ฝันไว้ในวัยหนุ่ม

การเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครนวดเด็ก สำหรับจันทร์พรไม่ได้มองว่าเป็นการทำบุญในเชิงศาสนาเท่าไรนัก แต่มองว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมในส่วนที่ตนพอทำได้มากกว่า และความคิดเริ่มต้นที่สนใจกิจกรรมนี้เพราะอยากสัมผัสเด็กเท่านั้นเอง

“เคยรู้จักพระไพศาล วิสาโลตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และเห็นข้อมูลในเวบไซต์ว่าท่านเป็นที่ปรึกษาโครงการจิตอาสา จึงเข้าไปดูรายละเอียดกิจกรรม พบว่ามีหลายโครงการที่น่าสนใจ รวมทั้งโครงการนวดเด็กนี้ด้วย ก็เลยสมัครเข้าร่วมโครงการ อยากลองอยู่กับเด็กๆ เพราะแต่งงานแล้วยังไม่มีลูก สนใจอยากลองเลี้ยงเด็กดูบ้าง จึงชวนสามีมาด้วย” จันทร์พรกล่าว

ตอนแรกจันทร์พรไม่ได้คาดหวังกับกิจกรรมมาก คิดแค่ว่าสัปดาห์ละ 1 วันจะให้เวลากับเด็กอย่างเต็มที่ เสมือนเป็นการบริจาคหรือทำบุญด้วยการอุทิศเวลาให้กับเด็กสักคนหนึ่ง แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจึงได้สัมผัสเหตุการณ์หลายอย่างที่กระทบใจ

เด็กคนแรกที่จันทร์พรและโชคชัยดูแลชื่อน้องต้น ทั้งสองบอกว่าเป็นเด็กวัยอ่อนที่น่ารักมาก ถึงแม้ไม่ค่อยได้นวดเพราะอารมณ์น้องไม่พร้อม วางลงทีไรมักจะร้องไห้ แต่ดูแลได้เพียง 2 สัปดาห์ ครอบครัวของน้องก็มารับกลับไป

เด็กคนที่สองชื่อน้องภา อายุประมาณ 6 เดือน เพิ่งเข้ามาอยู่บ้านได้ 3 วัน ยังปรับตัวไม่ได้ ร้องไห้ตลอด ทำให้จันทร์พรอดสะท้อนใจไม่ได้ที่น้องถูกทอดทิ้ง

ทั้งจันทร์พรและโชคชัยช่วยกันดูแลน้องภาจนอายุเกือบถึง 1 ขวบ เสมือนเป็นพ่อและแม่ มีความสุขกับการเฝ้าดูพัฒนาการและเห็นการเติบโตตามวัยของเขา นับตั้งแต่หยุดร้องไห้ นั่งได้ คลานได้ เดินได้ และตั้งท่ายืนได้ แม้น้องภาไม่ยอมให้โชคชัยอุ้มแต่อย่างน้อยก็ยอมให้ป้อนข้าว ทำให้เขาภูมิใจที่มีส่วนได้ดูแลเด็กคนหนึ่งตั้งแต่ยังงอแงร้องไม่หยุดจนมีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งย้ายไปอยู่บ้านอุปถัมภ์ที่ต่างจังหวัด

เด็กคนที่สามชื่อน้องวิน อายุประมาณ 4 เดือน มีปัญหาสุขภาพ ดูแลได้ไม่กี่เดือนน้องวินต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ ระหว่างนั้นทั้งสองจึงรับน้องพล อายุ 6 เดือนมาดูแลแทน ต่อมามีเหตุให้หยุดไปทำธุระส่วนตัวนาน 2 สัปดาห์ พอกลับมาอีกทีน้องวิน ออกจากโรงพยาบาลแล้ว จันทร์พรและโชคชัยจึงรับมาดูแลต่อ

“เพิ่งได้เจอน้องวินวันนี้เอง (วันเสาร์ ที่ 23 พ.ค. 52) ความรู้สึกแรกคือเขาสู้ชีวิตได้ดีมาก สดใสขึ้นเยอะ จากที่ไม่ได้เจอกันนาน จนเขาอายุ 1 ขวบกว่า เขาดูมีสุขภาพดี ตัวโตขึ้น ยิ้มได้ด้วย รู้สึกดีที่ชีวิตเขายังดำเนินไป ถึงแม้มีต้นทุนน้อยกว่าเด็กคนอื่น ตอนนี้ยังนั่งไม่ได้ แต่อย่างน้อยช่วงเวลาหลายเดือนที่ไม่เจอกันเขาได้พยายามดื่มนม เพราะตอนที่เราดูแลการดื่มนมเป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา แค่ดูดนมก็เหนื่อยแล้ว แต่เขายังโตมาได้ และทานข้าวได้แล้ว ถือว่าเก่งมาก” จันทร์พรเล่าถึงพัฒนาการน้องวินด้วยความตื่นเต้นยินดี

ทางด้านโชคชัยกล่าวว่า เมื่อต้องมาเป็นอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง ใจหนึ่งคิดว่าเป็นภาระพอสมควร แต่อีกใจหนึ่งอยากลองดูเพื่อใช้เวลา ใช้ชีวิตลักษณะนี้ดูว่าจะเป็นอย่างไร

“พอมาเห็นสภาพของเด็กถูกทอดทิ้ง แต่ละรุ่นมีเพิ่มมาเรื่อยๆ ไม่เคยหมด ก็แปลกว่าทำไมยังเป็นแบบนี้ สังคมพัฒนาไปแต่คนคงไม่ได้พัฒนาตาม ความรู้สึกแรกคือ เขาเป็นเด็กคนหนึ่งเหมือนเด็กทั่วๆ ไป เพียงแต่อยู่ต่างที่ ไม่ได้อยู่ที่บ้าน เวลามองดูแล้วอดเปรียบเทียบไม่ได้ เด็กๆ ที่เติบโตมาในบ้านได้รับการดูแลอย่างดี แต่เด็กที่นี่ต้องปรับตัว อยู่กับใครก็ได้ ไม่สามารถเรียกร้องความรักจากใครคนใดคนหนึ่ง”

สิ่งที่จันทร์พรและโชคชัยได้รับจากการดูแลเด็กมาทั้งหมด 4 คน นอกจากความสุขจากการมอบความรัก ความเข้าใจ และเมตตาต่อเด็ก ผลที่เกิดกับตนเองคือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ค่อยปรับเปลี่ยนไป และค้นพบสิ่งใหม่ในชีวิต

จันทร์พรเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่คนอื่นมากขึ้น เพราะเวลาอยู่กับเด็กต้องรู้จักเอาใจใส่แม้เพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในแง่จิตใจก็มีความสุขทุกครั้งที่มา อยู่กับเด็กแล้วได้รับความสดใส คลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานตลอดสัปดาห์

สำหรับโชคชัยได้เรียนรู้ว่า การดูแลเด็ก 1 คน เป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก จากประสบการณ์เห็นว่า แค่ดูแลเด็ก 3-4 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ ยังต้องดูแลเขาไม่ให้คลาดสายตา แทบจะทำอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นต้นทุนที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นต้นทุนที่สูงมาก ต้องทำให้ได้ทั้งสังคมรอบข้างและคนที่ดูแล จึงจะทำให้เด็กเติบโตได้ดี ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตนเองคือการรู้จักควบคุมอารมณ์ให้เย็นลง และรู้ว่าจะดูแลเด็กอย่างไร
นอกจากนี้ จันทร์พรและโชคชัยยังเห็นตรงกันว่า การพาครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นภาพที่สวยงามและมีคุณค่า ให้ความรู้สึกที่ดี

“แต่ก่อนเคยคิดว่าการที่เราพาเด็กทั่วไปเข้ามาในสถานสงเคราะห์จะเป็นการเอาความเศร้าใส่เข้าไปในชีวิตเขา แต่เมื่อได้มาเห็นหลายครอบครัวพาลูกมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เด็กได้มารับรู้สังคมที่มีปัญหาและมีส่วนเข้ามาให้ความรักกับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสกว่าตน เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ เห็นหลายครอบครัวมีความสุขกับการใช้เวลาร่วมกัน” โชคชัยกล่าว

จันทร์พรและโชคชัยไม่เคยรู้จักมูลนิธิสุขภาพไทยมาก่อน หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ คิดว่าเป็นองค์กรที่พยายามเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการเปิดตัวเอง ให้ได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และสัมผัสมุมมองชีวิตใหม่ๆ

“เรื่องการนวดเด็กบางคนอาจแค่อยากมาสัมผัสเด็ก แต่คิดว่าจุดสำคัญอยู่ที่เขาได้มาใช้เวลา ใช้ความรู้สึกจับต้องสิ่งที่ทำให้เขาได้เปลี่ยนมุมมอง กิจกรรมของมูลนิธิสุขภาพไทยส่วนนี้เหมือนกับหาช่องทางที่จะดึงดูดคนต่างๆ เหล่านี้ให้ก้าวเข้ามา”

ปัจจุบันจันทร์พรทำงานด้านไอทีให้กับธนาคารแห่งหนึ่ง ส่วนโชคชัยทำงานวิจัยด้านแหล่งน้ำให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสองยังเป็นอาสาสมัครระยะสั้นทุกวันเสาร์ แต่ต่อคอร์สอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ไม่ค่อยมีโอกาสนวดเด็ก แต่การได้ดูแล ประคับประคอง ช่วยเหลือให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยมากที่สุด ถือเป็นคุณค่าของงานเล็กๆ ที่น่าภูมิใจ

“ถึงไม่ได้ช่วยเหลือสังคมอะไรมากมาย แต่กิจกรรมนี้เป็นบันทึกหน้าหนึ่งในชีวิตเราที่น่าจดจำ และเป็นบันทึกสีชมพูด้วย” จันทร์พรกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]