นักวิชาการจัดอันดับ10ข่าวสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการสรุป 10 ข่าวเด่นสิ่งแวดล้อมไทย ยกอันดับแรกให้น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด ตามด้วยการประท้วงแผนการจัดการน้ำ3.5แสนล้าน น้ำท่วมภาคตะวันออก ต้านเขื่อนไซยะบุรี เหมืองทองเมืองเลยที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมหาศาล เดินเพื่อแม่วงก์ที่ประชาชนนับแสนคนลุกขึ้นมาคัดค้านการสร้างเขื่อนกลางอุทยานแห่งชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กฟผ.เตรียมสร้างในหลายพื้นที่ ท่าเรือปากบารา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของทะเลสตูล ฯลฯ

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สรุป 10 ข่าวเด่นสิ่งแวดล้อมไทยในสถานการณ์ปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา โดยนำเสนอในคอลัมน์นิเวศน์ทรรศน์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1125 ระบุว่า ขอจัดอันดับข่าวเด่นสิ่งแวดล้อม โดยใช้เกณฑ์ความรุนแรงของปัญหา การเป็นข่าวทั้งทางหน้าสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย และกระแสการตื่นตัวของสังคม โดยข่าวเด่น 10 อันดับมีดังนี้

1.น้ำมันดิบรั่วที่อ่าวไทย ผมจัดให้ข่าวนี้เป็นข่าวเด่นอันดับหนึ่งในรอบปี เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่เกาะเสม็ดของบริษัทลูกของ ปตท.เป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในรอบปี เพราะได้สร้างหายนะแก่ระบบนิเวศทางทะเลที่รุนแรงที่สุดของไทย ขณะที่ชาวประมงจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถทำประมงได้ ที่สำคัญก็คือ นักการเมืองห่วงเรื่องภาพพจน์ของการท่องเที่ยวมากกว่าการแก้ไขปัญหาให้ถูกวิธีด้วยการกินอาหารทะเลโชว์ การว่ายน้ำทะเลโชว์ การจัด Big Cleaning Day การจัดพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การจัดให้ดารานักร้องมาแสดง ขณะที่ ปตท.เองก็กลบปัญหาโดยการออกโฆษณาเชิญชวนให้มาเที่ยวเกาะเสม็ด

2.การประท้วงแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นข่าวสิ่งแวดล้อมที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลได้ผลักดันแผนการจัดการน้ำซึ่งจะมีการสร้างเขื่อน 22 แห่ง การสร้างคลองผันน้ำ การสร้างเขื่อนล้อมเมือง และการสร้างแก้มลิงโดยรัฐบาลได้ออก พรก.เงินกู้มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท มีการเตรียมลงนามในสัญญาจ้างโดยไม่มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จนมีการนำกรณีนี้ขึ้นศาลปกครอง และศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐบาล จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่การจัดเวทีกลับยิ่งโหมไฟให้เกิดการต่อต้านมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการรวบรัด คนที่ได้พูดไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้พูด จนมีการประท้วงเพื่อล้มเวทีทั่วประเทศ

3.น้ำท่วมการเมือง เหตุการณ์น้ำท่วมทั่วภาคตะวันออก ไม่ได้เป็นเพราะพายุหลายลูกพัดผ่านเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทั้งในปราจีนบุรีและมีการสร้างคันกั้นน้ำล้อมรอบและกีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญอีกประการก็คือ เกิดจากการที่นักการเมืองจงใจทำให้เกิดน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนยอมรับโครงการเขื่อนล้อมเมือง โดยเฉพาะกรณีน้ำท่วมกบินทร์บุรี ศรีมหาโพธิ และลุ่มน้ำปราจีนบุรี ผมจัดให้เหตุการณ์นี้เป็นข่าวเด่นอันดับ 3 เนื่องจากปัจจุบัน ชาวกบินทร์บุรีและชาวปราจีนบุรีเตรียมฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

4.การต่อต้านเขื่อนไซยะบุรี โดยเขื่อนแห่งนี้เป็น 1 ใน 12 เขื่อนที่มีการวางแผนสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่าง เขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างกั้นในลาวโดยทุนไทยจนได้ชื่อว่า เขื่อนลาวสัญชาติไทย โดยรัฐบาลลาวไม่ฟังเสียงของกัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งชาวบ้านทางฝั่งประเทศไทยที่อยู่ทางท้ายเขื่อน 8 จังหวัด ผมจัดให้ข่าวนี้เป็นข่าวเด่นอันดับ 4 เนื่องจาก การสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการลงทุนข้ามชาติของทุนไทย ที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในภูมิภาค และนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของสงครามบนลำน้ำโขง เนื่องจากเขื่อนอื่นๆ อีกหลายเขื่อนกำลังถูกผลักดันให้สร้างโดยเฉพาะ เขื่อนฮูสะโฮง ในลาวใต้ ซึ่งจะปิดตายแม่น้ำโขงทั้งสาย และจะสร้างหายนะอย่างรุนแรงในระดับภูมิภาค

5.ทุกข์คนเหมืองเมืองเลย จ.เลย เป็นพื้นที่ ที่มีการสำรวจแร่พบว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ และรัฐไทยก็ได้ให้เอกชนเข้าสำรวจและสัมปทานทำเหมือง รวมทั้งการทำเหมืองแร่ทองคำและโรงแต่งแร่ แต่การทำเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้าน ดังกรณีของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ อ.วังสะพุง ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษไซยาไนด์ สารหนู และโลหะหนัก จนกระทั่งทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐและทุนรับผิดชอบแก้ปัญหา และต่อต้านไม่ให้มีการขยายการให้สัมปทานเพิ่ม

6.โรงไฟฟ้าถ่านหิน ปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่หลายโครงการ แต่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับถูกต่อต้านอย่างเข้มแข็งจากชาวบ้านและนักอนุรักษ์ทั้งที่กระบี่ สิชล และเขาหินซ้อน ทำให้โครงการชะงักลงชั่วคราว ผมจัดให้ข่าวนี้เป็นข่าวเด่นอันดับ 6 เพราะการต่อต้านได้ทำให้โครงการชะงัก โดยการเคลื่อนไหวมุ่งไปที่กระบวนการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สิชล และการล้มรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เขาหินซ้อน

7.เดินเพื่อแม่วงก์ เขื่อนแม่วงก์เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะสร้างในใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งนักการเมืองและกรมชลประทานพยายามผลักดันมานานนับสิบปี แต่เขื่อนแห่งนี้มีความคืบหน้าในรัฐบาลนี้โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณศศิน เฉลิมลาภ ได้เดินเท้าทางไกล โดยมุ่งไปที่การเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการจัดทำ และพิจารณาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม

8.พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยพรบ.นี้ ได้ถูกต่อต้านจากภาคประชาสังคมพร้อมๆ กับ แผนเงินกู้เพื่อจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงการนี้เป็นโครงการที่มุ่งไปที่การสร้างเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองสำคัญทั่วประเทศ แต่วิธีการดำเนินโครงการกลับมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการกู้เงินเพียงคนเดียว ขณะที่โครงการนี้ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากหลายฝ่าย ที่ชี้ให้เห็นความไม่คุ้มทุนและยังสร้างหนี้สินระยะยาวถึง 50 ปี แต่ก็ไม่เป็นผล
9.ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กรณีการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทะเลอันดามัน รวมถึงอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะเภตราที่จะมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานดังกล่าว เป็นข่าวเป็นระยะๆ ล่าสุดนักสิ่งแวดล้อมก็ได้ใช้กลยุทธ์การเดินทางไกลจากปากบาราฝั่งอันดามันมายังชายฝั่งทะเลตะวันออกคล้ายคลึงกับกรณีเขื่อนแม่วงก์เพื่อรณรงค์ให้สังคมเห็นปัญหา

10.พลังงานไทย ข่าวเกี่ยวกับพลังงานได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่งได้มีการรณรงค์ชี้ให้เห็นถึงว่าแม้ว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานจำนวนมาก แต่รัฐแทบไม่ได้ประโยชน์ อีกทั้งคนไทยต้องบริโภคพลังงานในราคาแพง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เพื่อทวงคืน ปตท.กลับมาเป็นของรัฐ ขณะที่ในระดับพื้นที่ ทุนอุตสาหกรรมพลังงาน ก็เร่งสำรวจแหล่งพลังงานทั้งในทะเลและบนบก ทำให้เกิดการคัดค้านจากคนท้องถิ่น เช่น การต่อต้านการขุดเจาะสำรวจน้ำมันของ ปตท. โดยชาวเกาะสมุย ล่าสุดก็คือการต่อต้านการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติแหล่งดงมูลที่กาฬสินธุ์ ผมจัดให้ข่าวนี้เป็นข่าวติดอันดับ 10 ข่าวเด่นเนื่องจากแหล่งก๊าซและน้ำของไทยที่ยังอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกจัดสรรให้กับกลุ่มทุน โดยที่รัฐแทบไม่ได้ประโยชน์ ขณะที่การขุดเจาะสำรวจและนำพลังงานทั้งบนบกและทะเลขึ้นมาใช้ จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งปัญหานี้จะเกิดอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับทศวรรษ

ผมยก 10 ข่าวนี้มานำเสนอเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมจากการพัฒนา และหากจะปฏิรูปประเทศไทย ผมคิดว่าควรจะเริ่มต้นจากการพิจารณาที่มาของความขัดแย้งของประเด็นเหล่านี้ เพราะหากสาวให้ลึกก็จะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการเมืองทั้งในเชิงของสถาบันที่บิดเบี้ยวและถูกบิดเบือน อำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรของชุมชนไม่มี ความล้มเหลวของรัฐที่กลายเป็นเครื่องมือของทุน นักการเมืองที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ และการที่ทุนไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

ที่มา : newsmonitor@biothai.net
6 ม.ค.57

บทความที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะปรับวิธีสอนเด็ก-เพิ่มกิจกรรม

admin 4 เมษายน 2019

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานส่งเส […]

นักวิชาการแนะบันทึกข้อมูลสมุนไพรลงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

admin 2 เมษายน 2019

เมื่อ 18 ธ.ค. – นายสมชาย ชินวานิชย์เจริญ เครือข่า […]

นักวิชาการหวั่น “ขิงข่า” สูญพันธุ์

admin 2 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นางสุญาณี เวสสบุตร รองผู้อำนวยก […]