นักวิชาการแนะบันทึกข้อมูลสมุนไพรลงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อ 18 ธ.ค. – นายสมชาย ชินวานิชย์เจริญ เครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดอุดรธานี กล่าวในการประชุมเรื่อง “คุณค่าและประโยชน์ของการเก็บบันทึกข้อมูลภูมิปัญญา” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายแผนงานเสริมสร้างสุขภาพแห่งชาติ ว่า การเก็บข้อมูลหมอพื้นบ้านใน จ.อุดรธานี ตนได้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายฯ มาตั้งแต่ปี 2549 จำนวน 4 อำเภอ 9 ตำบล โดยอาศัยการลงพื้นที่และการพูดคุยจนได้ข้อมูลในส่วนของประวัติหมอพื้นบ้าน ความถนัดในการรักษา ส่วนวิธีการดูแลรักษานั้นมีเอกสารไกด์ไลน์ให้หมอพื้นบ้านบันทึก เช่น อาการของโรค กระบวนการในการดูแลรักษา ผลของการรักษา เป็นต้น ซึ่งบันทึกนี้จะทำให้เกิดความรู้ที่ขยายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น มีมูลค่าทางความรู้มากในเชิงวิชาการ ส่วนของหมอพื้นบ้านก็จะมีคุณค่าทางจิตใจว่าสิ่งที่ตนได้ทำนั้นมีประโยชน์

นายถวิล ชนะบุญ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาสารคามมีการให้ชุมชนจดบันทึกข้อมูลเบื้องต้นของพืชสมุนไพรในพื้นที่ โดยพื้นที่ที่ทำการบันทึกแล้วสามารถเห็นผลได้ชัดเจน คือ บ้านเชียงเหียน เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีการค้าขายสมุนไพรมาก จนสมุนไพรเกือบหมดป่า จึงต้องทำให้ชุมชนเรียนรู้ว่าพื้นที่ที่ตนเองอยู่นั้นมีสมุนไพรกี่ชนิด สามารถทำเป็นยาได้กี่ชนิด และผลิตเป็นยาได้กี่ตำรับ ตรงนี้จะทำให้คนในชุมชนรู้ว่าสมุนไพรใดกำลังจะสูญพันธุ์ สมุนไพรใดควรอนุรักษ์ หรือควรฟื้นฟู เป็นต้น ทั้งนี้ การจดบันทึกนี้จะเป็นส่วนช่วยในการส่งต่อข้อมูลไปยังกลุ่มคนรุ่นหลังได้ด้วย

ด้าน นายกฤษฎา แสงแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาแก้ว จ.ลำปาง กล่าวว่า ภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต และความหลากหลายของพืชพรรณในถิ่นที่อยู่อาศัย การเก็บรวบรวมข้อมูลก็เป็นส่วนช่วยในการแยกแยะว่าคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรคอะไรบ้าง และนำข้อมูลมาปรับใช้ค้นหาตำรับยาในการดูแลตามฉบับแผนท้องถิ่นนำตัวยาสมุนไพรมารักษา เนื่องจากโรคบางโรคไม่จำเป็นต้องไปรักษาถึงโรงพยาบาลในตัวจังหวัดหรืออำเภอ แต่สามารถรักษากันภายในท้องถิ่นได้ เช่น โรคพื้นบ้าน ชาวบ้านจะทราบว่ารักษาได้โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล หมอพื้นบ้านเองมีความรู้ในเรื่องยามาก ตำราบันทึกต่างๆ ก็มาก แต่ปัญหาคือ ตำรายาส่วนใหญ่จารึกเป็นภาษาล้านนา ซึ่งปัจจุบันคนทั่วไปอ่านไม่ออก ตรงนี้หากหมอพื้นบ้านเสียชีวิตก็จะทำให้ภูมิปัญญาในส่วนนั้นหายไป จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญา เพราะมีคุณค่าต่อคนในพื้นที่และประเทศชาติอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการส่งเสริมให้มีการเรียนภาษาพื้นเมืองมากขึ้น เพื่อให้รู้ภาษาและช่วยส่งถ่ายข้อมูลได้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา ประธานโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ขณะนี้มีการดำเนินเรื่องการแปลเอกสารโบราณเป็นหลัก ซึ่งในเอกสารโบราณนั้นก็มีเรื่องของยาด้วยเช่นกัน การแปลเอกสารยาโบราณมีความสำคัญ เนื่องจากเอกสารล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้นในการศึกษาค้นคว้าด้านการแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพ เป็นหลักฐานอ้างอิงถึงข้อมูลการรักษาที่มีอยู่จริงในพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือบันทึกและถ่ายทอดความรู้ต่อไปของผู้คนในสังคม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนในสังคม และประเทศชาติ ส่วนใหญ่จะพบเอกสารตำรับยาโบราณได้ที่วัด ก็จะมีการสำรวจ รวบรวมจัดทำบัญชี แบ่งหมวดหมู่ ทำทะเบียนติดเอกสารว่ามีกี่ฉบับ อยู่ที่ไหนบ้าง แล้วนำทั้งหมดมาลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของ GIS คือ ระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถเข้ามาสืบค้นได้ และจากตำรายาจะมีการคัดเลือกอีกว่ามีตัวยาอะไรที่สามารถนำมาใช้จริงได้ โดยผ่านการวิจัยจากคณะแพทย์ และเภสัชศาสตร์นำเข้าสู่กระบวนการผลิตเกิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

ที่มา : ASV ผู้จัดการออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ห่วงเจรจาเอฟทีเออียูประเด็นการผูกขาดข้อมูลทางยา

admin 4 เมษายน 2019

26 พ.ค.56/กรุงเทพฯ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกล […]