น้ำส้มป่อย เสริมสร้างสิริมงคลและพ้นจากโรคภัย

 

 

 

 

 

 

 

ส้มป่อยเป็นสมุนไพรที่คู่กับประเพณีชีวิตของชาวไทยล้านนาและชนเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือมานับแต่ปางบรรพ์จนบัดนี้ เรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรทางวัฒนธรรม ที่มีทั้งคุณค่าทางจิตใจและสรรพคุณทางยา ซึ่งคนในท้องถิ่นอื่นน่าจะได้เรียนรู้และนำไปใช้ในวิถีวัฒนธรรมของตน

ส้มป่อยกับเทศกาลมหาสงกรานต์เป็นของคู่กัน เพราะโบราณกล่าวขานว่า ต้องเก็บฝักส้มป่อยในเดือนห้าจึงจะขลังดี ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นต้องเก็บในวันเพ็ญเดือนห้า ซึ่งถ้าพิเคราะห์ตามหลักเภสัชศาสตร์แพทย์แผนไทยแล้ว ก็ฟันธงได้เลยว่า ในเดือนห้าหน้ามหาสงกรานต์นี้เป็นช่วงที่ฝักส้มป่อยแก่ได้ที่มีเภสัชสารหรือสรรพคุณทางยามากที่สุดด้วย

กล่าวคือฝักส้มป่อยเดือนห้านี้ เมื่อนำไปปิ้งไฟอ่อนๆ พอสุก มักมีกลิ่นหอมกรุ่นอมเปรี้ยวออกมา จากนั้นจึงนำมาหักเป็นชิ้นเล็กๆ สำหรับต้มเป็นยาหรือน้ำมาแช่น้ำ จะได้น้ำส้มป่อยสีเหลืองอ่อน ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะพิธีรดน้ำดำหัวในประเพณีมหาสงกรานต์ อันเป็นเทศกาลปีใหม่ของไทย

อันที่จริงช่วงเวลาที่เรียกว่า “สงกรานต์” นั้นมีเป็นประจำทุกเดือน เพราะสงกรานต์ หมายถึง การที่โลกเคลื่อนผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง แต่ช่วงเคลื่อนผ่านจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษเท่านั้นที่ทางโหราศาสตร์ถือกันว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านราศีที่สำคัญ จึงเรียกว่า “มหาสงกรานต์” ซึ่งมักจะเป็นช่วง วันที่ 13 -14 -15 เมษายนของทุกปี

ชนเผ่าไทยทั้งหลายรวมทั้งชนชาติที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย ถือว่าเมื่อโลกเปลี่ยนผ่านราศีอันยิ่งใหญ่มาแล้ว ก็เท่ากับได้นำพาโชคชะตาราศีของมนุษย์ทั้งหลายข้ามพ้นจากสิ่งเก่ามาด้วย จึงนับเอาวันมหาสงกรานต์เป็นดิถีปีใหม่ของชนเผ่าไทย
มีความเชื่อปรัมปราว่าในวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่เศียรของท้าวกบิลพรหมจะขาดตกลงมาสู่พื้นพิภพ และเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากอัปมงคล ดังกล่าวจึงได้มีพิธีรดน้ำดำหัว เพื่อปัดเป่าสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี สมุนไพรที่ขาดไม่ได้ในพิธีนี้คือ “ฝักส้มป่อย” นั้นเอง
ส้มป่อยมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Acacia concinna   (Willd.) D.C. เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีหนามตามลำต้น กิ่ง ก้านและใบ ลักษณะใบมองแล้วคล้ายขนนกสองชั้น เรียงสลับ ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ เป็นช่อกลม กลีบดอกเป็นหลอด สีนวล ผลเป็นฝัก สีน้ำตาลดำ ผิวย่นขรุขระ ส้มป่อยเป็นพืชที่นำมาใช้ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ต้น ใบ ดอก ผล ราก ฝัก เมล็ด

ส้มป่อยเป็นกรณีตัวอย่างที่สุดยอดของการนำเอาสมุนไพรในฤดูกาล เข้ามาผูกพันกับประเพณีชีวิตพื้นเมือง เพราะฝักส้มป่อยที่มีดกดื่นในช่วงฤดูแล้ง เหมาะสำหรับนำมาต้มน้ำอาบในหน้าร้อน กลิ่นอายหอมระคนเปรี้ยวของน้ำส้มป่อยช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ผิวพรรณสะอาดหมดจดสดชื่น ช่วยรักษาแผลเรื้อรังและโรคผิวหนังผดผื่นคันได้ดี ยิ่งกว่านั้นฝักส้มป่อยยังมีสารพวกซาโปนิน (saponins) ในปริมาณที่สูงมาก เมื่อนำมาต้มหรือนำมาแช่ตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทนมาก ใช้เป็นน้ำสระผมแก้คันศีรษะและรังแคได้อย่างชะงัด

ในช่วงมหาสงกรานต์ปีนี้ ฝนฟ้าคะนองแปลกมากกว่าทุกปี ทำให้ผู้คนมีอาการหวัดฝนปนหวัดแดด มีเสมหะไอถ้านำฝักส้มป่อยแก่จัดสัก 2 ฝัก มาปิ้งไฟพอหอมแล้วหักเป็นชิ้นเล็กๆ รินน้ำเดือดลงไป 1 แก้ว ทิ้งไว้สักครู่จนน้ำชาส้มป่อยออกเป็นสีเหลือง ส่งไอหอมอมเปรี้ยว นำมาดื่มหรือจิบบ่อยๆ เพื่อแก้ไอ ขับเสมหะ และแก้น้ำลายเหนียว

ยิ่งกว่านั้นสารซาโปนินในฝักส้มป่อยยังช่วยกระตุ้นให้ทีเซลล์ (T cells) ทำงานได้ดี ซึ่งทีเซลล์ช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น แต่ถ้าในหน้าร้อนอย่างนี้มีอาการท้องเสียท้องร่วงเป็นบิด ไม่ควรดื่มน้ำฝักส้มป่อยซึ่งมีฤทธิ์ระบาย แต่ควรดื่มน้ำต้มใบส้มป่อยแทน รสเปรี้ยวอมฝาดของใบส้มป่อย ใช้แก้บิดแก้ท้องร่วงได้ดี และถ้าใครนิยมการประคบสมุนไพรจะสังเกตได้ว่า มีการนำใบส้มป่อยมาเป็นตัวยาประคบแทบทุกตำรับซึ่งอาจใช้ใบส้มป่อยอย่างเดียวหรือผสมสมุนไพรตัวอื่นทำลูกประคบ ใช้แก้ปวดเมื่อยก็ได้อีกด้วย

เล่นน้ำมหาสงกรานต์ในปีนี้ ขอเสนอให้ใช้น้ำฝักส้มป่อยหรือน้ำใบส้มป่อยกันให้ทั่วบ้านทั่วเมือง ส้มป่อยหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายสมุนไพรทั่วไป หรือเก็บเอาตามบ้านหรือป่าชุมชนที่ยังมีให้เห็น นอกจากจะช่วยเสริมมงคลชีวิต ขจัดปัดเป่าให้ตัวเราและบ้านเมือง พ้นจากบาปเคราะห์ทั้งปวงตลอดปี ยังช่วยแก้สรรพโรคในเทศกาลฤดูร้อนนี้ได้เป็นอย่างดีด้วย.