มข.วิจัยพบ“ซังข้าวโพดม่วง”มีคุณค่าต่อสมอง

รศ.จินตนาภรณ์ วัฒนธร หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาการแพทย์ทางเลือกแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแพทย์ทางเลือกแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำซังข้าวโพดม่วงลูกผสมพันธุ์เปิดที่ รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาขึ้น มาศึกษาศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าในรูปอาหารสุขภาพ พบว่า เมื่อนำซังข้าวโพดม่วงมาพัฒนาเป็นชาสุขภาพ แล้วนำมาป้อนให้หนูขาวในขนาดต่างๆกันคือ 4, 8 และ 12 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันแล้วนำมาเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความจำบกพร่องด้วยการฉีดสารสโคโปลามีน ( scopolamine) ที่ไปแย่งจับกับตัวรับของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้และความจำ

“จะพบว่าหนูขาวที่มีความจำบกพร่องและได้รับชาซังข้าวโพดทุกขนาดที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้จะมีการเรียนรู้และความจำดีกว่าหนูที่มีความจำบกพร่องที่ไม่ได้รับชาซังข้าวโพด โดยกลไกการออกฤทธิ์ของชาสุขภาพจากซังข้าวโพดน่าจะเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ได้แก่ การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลิเนสเตอเรส (acetylcholinesterase) ทำให้มีอเซทิลโคลีนเหลืออยู่มากขึ้นสามารถไปออกฤทธิ์เพิ่มการเรียนรู้และความจำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในหนูขาวที่มีความจำบกพร่องและได้รับชาซังข้าวโพดม่วงขนาด 8 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันซึ่งพบว่ามีการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลิเนสเตอเรสลดลง แต่ในหนูขาวความจำบกพร่องที่ได้รับชาสุขภาพจากซังข้าวโพดขนาด 12 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันจะมีการทำงานของเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (monoamine oxidase) ซึ่งทำหน้าที่ในการทำให้สารสื่อประสาทกลุ่มโมโนเอมีน(monoamine) โดยเฉพาะนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine), ซีโรโตนิน (serotonin), โดพามีน (dopamine) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการให้ความสนใจต่อสิ่งเร้า (attention) และการเกิดความจำขณะทำงาน (working memory)หมดฤทธิ์ลดลง (unpublished data) ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อ กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase ) เพิ่มขึ้น ทำให้น่าจะไปมีผลลดอนุมูลอิสระที่จะไปทำลายเนื้อเยื่อสมองซึ่งปกติแล้วจะมีความไวต่อการทำลายโดยอนุมูลอิสระได้ อย่างไรก็ตามน่าจะมีกลไกอื่นอีกที่มีบทบาทในการออกฤทธิ์ดังกล่าวโดยเฉพาะในชาซังข้าวโพดขนาดต่ำหรือขนาด 4 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน ซึ่งกลไกที่ชัดเจนยังคงต้องการการศึกษาต่อไป”

ถึงแม้ในการศึกษาครั้งนี้ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าสารออกฤทธิ์เป็นตัวใดแต่น่าจะเป็นไปได้ว่า สารสีม่วงที่ชื่อ แอนโธไซยานิน (anthocyanin) น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเนื่องจากรายงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า สารดังกล่าวสามารถเพิ่มการเรียนรู้ในแบบจำลองความจำบกพร่องที่พบในสตรีวัยทอง อย่างไรก็ตามผลที่พบก็อาจเกิดจากการเกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างสารต่างๆที่เป็นองค์ประกอบในซังข้าวโพดได้เช่นกัน

ซังข้าวโพดอาจไม่ใช้แค่วัสดุเหลือใช้หรืออาหารสัตว์อีกต่อไปแต่อาจเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพง่ายๆที่ช่วยให้เราพึงตนเองได้ภายใต้เทคโนโลยีและกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน และสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพตลอดจนสร้างรายได้จากวัสดุเหลือใช้ได้อีกด้วย

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงมีคุณค่าเหลือคณา

admin 2 เมษายน 2019

ข้าวโพดเป็นพืชที่มีผู้นิยมบริโภคแพร่หลาย แต่มีหลายชนิดห […]